วันพุธที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2558

ผู้นำกับการบริหาร

ผู้นำกับการผู้บริหาร
ผู้นำที่ดีมักต้องมีความเป็นนักบริหารอยู่ในตัวด้วย เพื่อจะทำให้วิสัยทัศน์และเป้าหมายสามารถสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากมีแต่เป้าหมายและทรัพยากร แต่ขาดความสามารถในการบริหารจัดการ เป้าหมายนั้นก็ไม่อาจสำเร็จได้ เออร์เนส เดล (Ernest Dale) ให้ความหมายว่า “การบริหารคือ กระบวนการจัดองค์กร และการใช้ทรัพยากรต่างๆ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้”
หน้าที่ของผู้บริหาร
ผู้บริหารมีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดการทรัพยากรต่างๆให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้
ซึ่งหน้าที่ในการจัดการดังกล่าวสามารถแบ่งได้หลักๆ ดังนี้
1. วางแผน
การวางแผนเป็นเรื่องเกี่ยวกับการกำหนดวัตถุประสงค์นโยบายโครงการ และวิธีดำเนินงานเพื่อบรรลุ วัตถุประสงค์ นโยบายและโครงการที่กำหนดไว้ การวางแผนเป็นเรื่องของการตัดสินใจเพราะเป็นการเลือกระหว่างทางเลือกหลายๆทาง ผู้บริหารทุกคนไม่ว่าอยู่ในระดับใดก็ต้องมีหน้าที่ส่วนหนึ่งเป็นการวางแผน การวางแผนประกอบด้วย
  1. การกำหนดเป้าหมาย เป้าหมายคือสิ่งที่เราอยากได้ อยากเห็น ควรกำหนดให้ชัดเจนเป็นรูปธรรมที่วัดผลได้ เป็นปริมาณ และมีการกำหนด ระยะเวลา เช่น กำหนดเป้าหมายว่าอยากให้มีคริสตจักรเกิดขึ้นมากๆ อย่างนี้ไม่พอ เพราะวัดไม่ได้ชัดเจน ต้องกำหนดว่าอยากให้มีคริสตจักรเกิดขึ้น 10 แห่ง ภายใน 10 ปี หรือกำหนดเป้าหมายว่าอยากให้สมาชิกในคริสตจักรเป็นคริสเตียนที่มีคุณภาพ อย่างนี้ไม่พอ เพราะวัดผลไม่ได้ชัดเจนเช่นกัน ต้องกำหนดว่า อยากให้สมาชิกในคริสตจักรเป็นพยานเป็นจำนวน 50 คน ภายใน 1 เดือน เป็นต้น จากนั้นก็ไปกำหนดนโยบายและวิธีดำเนินงานอีกทีว่า จะทำอย่างไรจึงจะได้ตามเป้าหมายที่วัดได้นี้
  2. กำหนดนโยบาย วิธีดำเนินงาน เป็นแผนงานที่จะทำให้เป้าหมายนั้นสำเร็จได้ โดยประเมินว่าต้องใช้ทรัพยากรอะไร อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นคน เครื่องจักรหรืออุปกรณ์ ทุน วัตถุดิบและวิทยาการ เขียนออกมาเป็นโครงการได้
2. จัดองค์กร
การจัดองค์กรเป็นเรื่องของการจัดโครงสร้างบทบาทต่างๆ โดยการพิจารณากำหนดกิจกรรมต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการบรรลุเป้าหมายขององค์กร รวมทั้งการจัดรวมกลุ่มกิจกรรม และการจัดให้กลุ่มกิจกรรมนั้นๆมีผู้บริหารเป็นผู้รับผิดชอบ พร้อมทั้งมอบอำนาจหน้าที่ที่จะดำเนินกิจกรรมเหล่านั้นจนสำเร็จได้ด้วย นอกจากนี้ยังมีการจัดเตรียมการประสานความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจหน้าที่ทั้งในแนวตั้งและแนวนอนของโครงสร้างองค์กรอีกด้วย
การจัดองค์กร ประกอบด้วย (1) การแบ่งงาน/หน้าที่ (2) การมอบหมายงาน/หน้าที่ (3) การมอบอำนาจ (4) การจัดสถานที่ทำงาน
  1. จัดคนเข้าทำงาน
การจัดคนเข้าทำงานเป็นเรื่องของการจัดหาและจัดการเกี่ยวกับตัวบุคคล จัดให้บุคคลเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่ที่กำหนดไว้ในโครงสร้างขององค์กร ซึ่งจำเป็นต้องมีการกำหนดความต้องการเกี่ยวกับกำลังคนที่จะมาทำงาน ทั้งนี้ย่อมรวมถึงงานทะเบียนบุคคล ประเมินบุคคล และเลือกสรรผู้เหมาะสมสำหรับตำแหน่งต่างๆ การจ่ายค่าตอบแทน ตลอดจนการฝึกอบรมบุคลากร ซึ่งเป็นการพัฒนาบุคคลทั้งที่เป็นคนเดิมและคนที่จะเข้ามาใหม่
การจัดคนเข้าทำงาน ประกอบด้วย (1) การเลือกสรรบุคลากรเข้าทำงาน (2) การตอบสนองความต้องการของบุคลากร (3) การพัฒนาบุคลากร
  1. สั่งการ
การสั่งการเป็นเรื่องของการให้แนวทางและบังคับบัญชาผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชา วิธีการในการสั่งการเป็นเรื่องที่ยุ่งยากสับสนเป็นพิเศษ เพราะผู้บังคับบัญชาต้องคอยชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับธรรมเนียมประเพณี ความเป็นมา วัตถุประสงค์ และนโยบายขององค์กร ซึ่งผู้ใต้บังคับบัญชาก็ต้องเรียนรู้เกี่ยวกับโครงสร้างขององค์กรและความสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรม ตัวบุคคล ตลอดจนหน้าที่และอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ และนอกจากนี้ผู้บังคับบัญชาก็ยังต้องคอยให้คำชี้แจงเกี่ยวกับงานที่มอบหมาย คอยแนะนำแนวทางในการปรับปรุงการทำงาน และคอยจูงใจให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทำงานด้วยความกระตือรึอร้น และมีความเชื่อมั่นอยู่เสมอ
การสังการ ประกอบด้วย (1) การมีภาวะผู้นำ (2) การจูงใจ (3) การติดต่อสื่อสาร
  1. ควบคุม
การควบคุมเป็นเรื่องของการบังคับให้กิจกรรมต่างๆเป็นไปตามแผนงาน ซึ่งเป็นการวัดความ ก้าวหน้าในการทำงานหรือประเมินผล การแก้ไขข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น และเป็นการยืนยันความสำเร็จของแผน ทั้งนี้เพราะแม้ว่าการวางแผนจะเป็นเรื่องที่มาก่อนการควบคุม แต่การวางแผนก็ไม่อาจจะบรรลุผลสำเร็จได้ด้วยตนเอง จึงต้องอาศัยการควบคุมเป็นเครื่องมือทำให้แผนงานประสบผลสำเร็จตามที่กำหนด ซึ่งหมายความว่าแผนงานเป็นเครื่องมือชี้แนะแนวทางในการใช้ทรัพยากรเพื่อความสำเร็จตามเป้าหมายภายในเวลาที่กำหนด และมีการควบคุมเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่ากิจกรรมเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้หรือไม่
การควบคุมประกอบด้วย (1) การรายงาน (2) การตรวจสอบคุณภาพ (3) การประเมินผลโดยเทียบกับเป้าหมายที่วางแผนไว้ (4) การวางแผนใหม่ วางเป้าหมายที่การปรับปรุงให้ดีกว่าเดิม
อย่างไรก็ตาม ผู้นำซึ่งทำหน้าที่ผู้บริหารต้องเข้าใจด้วยว่า หน้าที่ทั้งห้าด้านที่กล่าวมาล้วนมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน เช่น การวางแผนย่อมมีผลต่อการจัดองค์กร และในทำนองเดียวกันการจัดองค์กรก็ย่อมมีอิทธิพลต่อการควบคุมด้วย เป็นต้น
และแม้ว่าหน้าที่แต่ละด้านจะต้องสอดคล้องต่อเนื่องกัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าหน้าที่หนึ่งจะต้องเสร็จสิ้นไปก่อนที่อีกหน้าที่หนึ่งจะเกิดขึ้นได้
ยิ่งกว่านั้นหน้าที่เหล่านี้ยังผูกพันกันอย่างสับสนซับซ้อน จนไม่อาจจัดลำดับที่แน่นอนตายตัวได้
ทั้งนี้ย่อมเป็นไปตามความต้องการของแต่ละองค์กร เช่น ในการตั้งองค์กรใหม่ การวางแผนย่อมมาก่อนหน้าที่อื่นๆตามลำดับ แต่ในองค์กรที่ตั้งอยู่แล้ว การควบคุมจะเป็นหน้าที่ที่อยู่ในอันดับถัดจากการวางแผน เป็นต้น

นอกจากนี้งานของผู้บริหารยังมีอย่างอื่นอีก เช่น ต้องทำหน้าที่เป็นตัวแทนขององค์กรในการติดต่อกับองค์กรอื่นๆในงานพิธีการต่างๆ รวมทั้งเป็นเสมือนสัญลักษณ์และภาพลักษณ์ขององค์กรด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น