วันพุธที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2558

ผู้นำกับความคิดสร้างสรรค์

ผู้นำกับความคิดสร้างสรรค์
ความคิดสร้างสรรค์คือ การคิดและตัดสินใจดำเนินการ หรือแก้ไขปัญหาที่มีลักษณะแตกต่างจากการตัดสินใจปกติประจำที่เคยเป็น ซึ่งการคิดและการตัดสินใจนี้สามารถให้ผลที่น่าพอใจหรือสามารถแก้ ปัญหาได้จริงในทางปฏิบัติ
โดยปกติลักษณะของความคิดมี 2 แบบ คือ ความคิดเชิงวิเคราะห์ (Analytical Thinking) กับ ความคิดเชิงสร้างสรรค์ (Creative Thinking) ทั้งสองมีความแตกต่างดังนี้
ความคิดเชิงวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์
ใช้เหตุผล ใช้จินตนาการ
คาดคะเนได้ คาดคะเนไม่ได้
มีขอบเขต กว้างกระจาย ไร้ขีดจำกัด
เป็นแนวดิ่ง เป็นแนวราบ
ความคิดสร้างสรรค์มักถูกใช้ใน 2 ด้านได้แก่ ด้านการสร้างสรรค์งานศิลปะต่างๆ กับด้านของการแก้ไขปัญหา ในที่นี้จะกล่าวถึงในด้านการนำความคิดสร้างสรรค์มาใช้เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ เท่านั้น ไม่ขอกล่าวถึงความคิดสร้างสรรค์ในแง่ศิลปะ
ลักษณะของความคิดสร้างสรรค์ 
  1. ความคิดสร้างสรรค์เป็นกระบวนการ ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นวูบวาบฉับพลัน แต่เป็นกระบวนการความ คิดที่เป็นขั้นตอน เป็นระบบ และไม่ใช่ความเพ้อฝันไร้สาระ แต่เป็นกระบวนการที่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้
  2. ความคิดสร้างสรรค์เป็นคุณสมบัติเฉพาะตัว ไม่ได้มีมาตรฐานวัด ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลในแต่ละสถานการณ์
  3. ความคิดสร้างสรรค์มุ่งคิด หรือแก้ปัญหาด้วยมุมมองหรือแนวทางใหม่ ไม่ได้ยึดตามมาตรฐานเดิม
  4. ความคิดสร้างสรรค์เป็นความคิดเชิงบวก เป็นการเริ่มต้นจากทัศนะที่ว่า ปัญหาทุกอย่างแก้ไขได้ และทุกอย่างพัฒนาให้ดีขึ้นได้
  5. ความคิดสร้างสรรค์เป็นทักษะที่ฝึกฝนกันได้
ประโยชน์ของความคิดสร้างสรรค์
1.  ช่วยให้เกิดพัฒนาการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆให้ดีขึ้น
2.  ช่วยพัฒนามนุษย์ในด้านการคิด แก้ปัญหา และจินตนาการ
อุปสรรคของความคิดสร้างสรรค์
  1. นิสัยที่ชอบยึดติดกับสิ่งเดิมๆ การกระทำเดิมๆ สถานการณ์เดิมๆ ที่ตนคุ้นเคยจึงไม่อยากเปลี่ยน แปลงอะไร
  2. ไม่ให้เวลา ไม่จัดเวลา จึงอ้างว่าไม่มีเวลาคิดอะไรสร้างสรรค์
  3. การอ้างว่ามีปัญหาท่วมท้น หมกมุ่นกังวลอยู่กับปัญหา จมอยู่กับปัญหา จนไม่ยอมให้เวลาคิดแบบใหม่
  4. การคิดว่าไม่มีปัญหา ทุกอย่างดีสมบูรณ์อยู่แล้วทำให้ไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลง
  5. การกลัวความล้มเหลวและกลัวถูกวิพากษ์วิจารณ์ จึงไม่อยากเปลี่ยนแปลง

วิธีพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ 
การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์มี 4 ขั้นตอน ได้แก่
1. กำหนดปัญหาโดย
1) เพ่งปัญหาที่แท้จริง โดย (1) ถามว่าอะไรคือปัญหา และ (2) แยกแยะตัวปัญหา
2) ตั้งใจจับประเด็นปัญหาให้มั่น โดยระบุประเด็นปัญหาให้ชัดเจนไม่เลื่อนลอย ไม่กำกวม
3) ขยายขอบเขตความคิด ลองขยายวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่ต้องการออกไปให้กว้างกว่า
ความคิดเดิม วัตถุประสงค์เดิม
2. เปิดรับแนวทางแก้ปัญหาโดย
1) หาตัวกระตุ้นความคิด ลองหาสิ่งที่จะสามารถจุดประกายความคิดใหม่ๆที่ตนเองไม่เคยคิดมาก่อนทำได้หลายวิธี เช่น การพูดคุยกับคนอื่น การอ่าน ดูโทรทัศน์ ฯลฯ สิ่งเหล่านั้นไม่จำเป็นต้องมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรากำลังคิดอยู่โดยตรง อาจเป็นคนละเรื่องเลยก็ได้ อาจใช้เทคนิคการระดมสมองก็ได้
2) คิดอะไรที่ประหลาดๆ ลองตั้งใจคิดให้แปลกๆเพ้อฝัน ฟังดูบ้าๆบอๆ
3) พิจารณาความละม้ายคล้ายคลึง ลองสังเกตดูความคิดหรือการกระทำของคนอื่นที่เคยต้องแก้ไขปัญหาเรื่องเดียวกับเรา ลองสังเกตความละม้ายคล้ายคลึง ความสอดคล้องกัน แล้วลองลอกเลียนแบบ เพื่อนำมาพัฒนาปรับปรุงเพิ่มเติมตามความคิดสร้างสรรค์ของเรา
4) ประกอบความคิดเข้าด้วยกัน ลองเอาแนวคิดที่ใกล้เคียงกันมาประกอบกัน ลองเอาแนวคิดที่ต่างกันมากไม่เกี่ยวข้องกันเลยมาประกอบกัน ลองเอาวัตถุประสงค์ต่างๆที่เราต้องการมาประกอบกัน
3. การเลือกความคิดโดย
1) บูรณาการความคิด รวบรวมความคิดต่างๆที่เกิดขึ้นทั้งหมด ควรเขียนออกมาเพื่อความชัดเจน แล้วพิจารณาผลดีผลเสียของแต่ละความคิดเปรียบเทียบ จากนั้นก็ตัดสินใจเลือกว่าจะเอาความคิดใด
2) สร้างความคิดให้หนักแน่น เอาความคิดที่เลือกแล้วมาพิจารณาอีกครั้ง เพื่อพยายามลดข้อผิดพลาดหรือจุดอ่อนของความคิดนั้น โดยเปิดรับการวิพากษ์วิจารณ์และข้อโต้แย้งทั้งจากตัวเองและผู้อื่น รวมทั้งผู้ที่ไม่เป็นมิตรกับเราด้วย
3) เสริมพลังความคิด ทำได้ 3 ขั้นตอนคือ (1) ระบุผลดีและผลเสียในการนำความคิดไปปฏิบัติ โดยจัดเรียงจากผลดีที่สุด และผลเสียที่สุดไว้ก่อน (2) ปรับปรุงความคิดและเสริมเติมวิธีการอื่น เพี่อลดผลเสียที่สุด หรือผลเสียมากๆ และเพิ่มผลดีให้มากขึ้น (3) ตัดสินใจว่าหลังจากปรับปรุงความคิดดังกล่าวแล้ว จะผลักดันความคิดให้เป็นผลหรือไม่ถ้าหยุดก็หยุดเลย แล้วไม่ต้องนำมาคิดซ้ำซากอีก ถ้าจะผลักดันต่อก็ทำให้ถึงที่สุดไปเลย
4. การแปลงความคิดไปสู่การปฏิบัติโดย
1) เผชิญหน้ากับอุปสรรค อุปสรรคของการนำความคิดมาสู่การปฏิบัติ เกิดได้ทั้งจากตนเองและผู้อื่น ทุกคนที่จะทำสิ่งใหม่ล้วนแต่ต้องพบกับอุปสรรค ผู้ที่จะประสบความสำเร็จคือผู้ที่จิตใจเข้มแข็ง ไม่ย่อท้อ พยายาม ฟันฝ่าอุปสรรคทั้งหลาย
2) ยืดหยุ่นและปรับตัว รู้จักยืดหยุ่นและปรับปรุงความคิดของเราให้เหมาะสมกับสถานการณ์ สภาพแวดล้อม และข้อจำกัดต่างๆ เพื่อให้ความคิดนั้นสามารถเกิดผลเป็นจริงได้
3) วางแผนปฏิบัติ วางแผนในการใช้ความคิดนั้นอย่างเป็นระบบ และมีแผนดำเนินการอย่างละเอียด ว่าจะทำอะไรก่อนหลัง ทำเมื่อไหร่ ใครทำ ทำอย่างไร ใช้ทรัพยากรอะไรบ้าง
4) กล้าเสี่ยงและเผื่อใจสำหรับความล้มเหลว คนที่คิดสร้างสรรค์ทุกคนมักจะต้องมีประสบการณ์ของความล้มเหลวบ้าง แต่คนที่ไม่เคยล้มเหลวคือคนที่ไม่เคยทำอะไรเลย
วิธีฝึกตัวเองให้เป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์ 

  1. ฝึกใช้ความคิดตลอดเวลา โดยวิธีการตั้งคำถามใหม่ๆเสมอ และพยายามหาเหตุผลว่าทำไมเป็นอย่างนั้น และไม่เป็นอย่างนี้
  2. ฝึกการคิดอย่างรอบด้าน ไม่ติดยึดกับความคิดในแนวใดแนวหนึ่งแนวเดียว
  3. พยายามสลัดความคิดเดิมๆที่ครอบงำอยู่ พยายามคิดแหวกแนวไปจากกฎเกณฑ์ดั้งเดิม แม้ว่าอาจจะดูพิลึกพิลั่นไปบ้าง
  4. จัดระบบความคิด ได้แก่ (1) หาเหตุหาผล (2) จัดกลุ่ม (3) เปรียบเทียบ (4) มองหลายมิติ (5) ค้นหาความจริง
  5. ฝึกตนเองให้ ฟัง คิด อ่าน เขียน
  6. ฝึกตนเองให้เป็นคนรักการอ่าน การฟัง และการดู รวมทั้งฝึกให้เป็นคนช่างสังเกต เพราะจะเป็นการสะสมประสบการณ์ทางอ้อม และเป็นตัวกระตุ้นความคิดใหม่ๆ
  7. ฝึกการระดมสมอง ซึ่งจะทำให้ได้ความคิดสร้างสรรค์จากหลายๆคน
  8. ไม่กลัวการเสียหน้าหรือความล้มเหลว
  9. มีทัศนคติที่ว่าทุกอย่างพัฒนาได้ หรือสิ่งดีมีมากกว่าหนึ่ง เป็นต้น จะทำให้ความคิดพัฒนาไม่หยุดนิ่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น