ผู้นำกับการสอน
การสอนคือการถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้อื่น การสอนไม่ได้เป็นงานของครูอาจารย์ในโรงเรียนเท่านั้น ในปัจจุบันนี้คนในทุกสาขาอาชีพก็มักมีส่วนต้องสอน หรือให้ความรู้แก่ผู้อื่นด้วยเช่นกัน เพียงแต่อาจไม่ได้เรียกว่าสอน หรือไม่ได้เรียกตัวเองว่าครูอาจารย์ การให้ความรู้นั้นก็อาจถูกเรียกว่าเป็นการถ่ายทอด หรือการเป็นวิทยากร
คนที่เป็นผู้นำมีส่วนที่ต้องทำหน้าที่สอนด้วยเช่นกัน เช่น ในการบริหารงาน ผู้นำต้องมีการมอบหมายงานให้แก่บุคคลต่างๆ ซึ่งก็จำเป็นต้องมีการอบรมบุคคลเหล่านั้นเพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายได้ ฉะนั้นผู้นำจึงควรเป็นครูที่ดี ที่มีความสามารถในการสอนหรือการถ่ายทอดความรู้ด้วย
รูปแบบการสอน
การสอนมีหลายรูปแบบ ได้แก่ 1.สอนแบบบรรยาย 2.สอนแบบอภิปราย 3.สอนแบบฝึก
ปฏิบัติ 4.สอนโดยให้ค้นคว้าด้วยตนเอง
ก. การสอนแบบบรรยาย (Lecture)
การถ่ายทอดแบบบรรยาย เป็นรูปแบบการสอนที่เป็นที่นิยมที่สุด เป็นการสอนโดยให้ผู้สอนคนหนึ่งบรรยาย หรืออธิบายเนื้อหาแก่ผู้ฟัง โดยอาจเอากิจกรรมอื่นๆเข้ามาใช้ประกอบคำบรรยายเพื่อเสริมความรู้ความเข้าใจของผู้ฟังให้มากขึ้น เช่น การสาธิต การซักถาม การทำแบบทดสอบก่อนและหลัง หรือระหว่างการบรรยาย การเล่นเกมส์ หรือกิจกรรมเล็กๆน้อยๆ ก่อนและหลังการบรรยาย เพื่อไม่ให้บรรยากาศน่าเบื่อ
ขั้นตอนการสอนแบบบรรยาย - การสอนแบบบรรยายก็มีลักษณะเหมือนการพูดในที่ชุมชนอย่างหนึ่ง จึงมีขั้นตอนเหมือนกัน คือ คำนำ เนื้อหา และสรุป
1. คำนำ
- สร้างบรรยากาศที่เป็นกันเองกับผู้ฟัง อาจเป็นการพูดคุยซักถามเรื่องทั่วๆไป หรือเหตุการณ์
ประจำวัน หรือถามไถ่ในเรื่องของผู้ฟังบางคนเล็กๆน้อย ๆ
- เริ่มต้นคำนำด้วยการกระตุ้นความอยากเรียนของผู้ฟัง พยายามทำให้เห็นว่าเนื้อหาที่จะเรียนรู้
ต่อไปนั้นน่าสนใจอย่างไร สำคัญอย่างไร มีประโยชน์อย่างไร หรือถ้าไม่รู้จะมีผลเสียอย่างไร จากนั้นก็เชื่อมต่อไปยังเนื้อหาที่จะบรรยาย
- หากเป็นได้ ควรแจ้งโครงเรื่องของเนื้อหาที่จะบรรยายให้ผู้ฟังได้ทราบก่อน เพื่อเป็นแนวทางให้
ผู้ฟังมองเห็นภาพรวมของเนื้อหา ความสัมพันธ์ของเนื้อหาทั้งหมด และขอบเขตของเนื้อหาทั้งหมด วิธีนี้จะช่วยให้ผู้ฟังเข้าใจเนื้อหาได้ดีขึ้น ผู้สอนอาจแจ้งโครงเรื่องโดยเขียนไว้บนกระดาน แผ่นใส หรือพิมพ์เป็นเอกสารแจกก็ได้
2. เนื้อหา
- บรรยายเนื้อหาอย่างชัดเจน เป็นระบบเป็นขั้นเป็นตอนตามโครงเรื่องที่กำหนดไว้
- ควรนำเสนอประเด็นหลักก่อน แล้วจึงขยายความไปยังประเด็นรอง และรายละเอียดเพิ่มเติม รวมทั้งยกตัวอย่างประกอบ
- อาจมีการตั้งคำถามเป็นระยะๆ เพื่อให้ผู้ฟังได้คิด มีส่วนร่วม และจะเป็นการกระตุ้นให้ผู้ฟัง
ตื่นตัวอยู่เสมออีกด้วย
- อาจมีการสาธิต มีการใช้อุปกรณ์ประกอบการถ่ายทอดบ้าง เช่น การใช้รูปภาพ สไลด์ภาพยนตร์
วิดีโอเทป และเครื่องฉายแผ่นใส เพื่อทำให้การบรรยายนั้นน่าสนใจมากขึ้น เกิดความเข้าใจมากขึ้น และจำได้ดีขึ้น
3. สรุป
- สรุปประเด็นสำคัญของเนื้อหาทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบ ทำให้ผู้ฟังได้เห็นเค้าโครงของสิ่ง
ที่ได้ฟังมาแล้วอีกครั้งหนึ่งได้ชัดเจนขึ้น
- อาจให้ผู้ฟังช่วยกันสรุปเนื้อหาคำบรรยายด้วยคำพูด
- ก่อนจบการบรรยายควรเปิดโอกาสให้ผู้ฟังได้ซักถามข้อสงสัย หรือแสดงความคิดเห็น
- ในบางครั้งอาจมีการทดสอบย่อยหลังการบรรยาย (Post-test) ซึ่งใช้เวลาไม่นานนักเพื่อเป็นการทดสอบความเข้าใจของผู้ฟัง หรืออาจมีการทดสอบก่อนการบรรยาย (Pre-test) ด้วยก็ได้ เพื่อให้รู้ว่าก่อนฟังนั้นมีความรู้อยู่แล้วเพียงใด และหลังจากฟังแล้วมีความรู้เพิ่มขึ้นหรือไม่เพียงไร
- นอกจากการทดสอบแล้วยังอาจทำกิจกรรมสั้นๆ เช่น แบ่งผู้ฟังออกเป็นกลุ่มๆ แล้วให้แต่ละกลุ่ม
อภิปรายหรือแก้ไขปัญหาต่างๆ แล้วให้ตัวแทนแต่ละกลุ่มมารายงานหน้าห้อง วิธีนี้ก็จะสามารถทดสอบความรู้ความเข้าใจและทัศนคติของผู้ฟังได้เช่นกัน
ผู้ที่สอนแบบบรรยายควรเข้าใจว่า การสอนแบบบรรยายก็มีลักษณะเหมือนการพูดในที่ชุมชนอย่างหนึ่ง จึงมีเทคนิคเหมือนกับหลักการพูดในที่ชุมชนทุกอย่าง แตกต่างกันบ้างตรงที่การพูดในที่ชุมชนนั้นมักเป็นการพูดทางเดียว ไม่มีการซักถาม อภิปราย หรือการใช้อุปกรณ์ประกอบ แต่การสอนนั้นมักจะต้องมีการซักถาม อภิปราย และการใช้อุปกรณ์ประกอบด้วย ผู้สอนแบบบรรยายจึงควรศึกษาและฝึกฝนเพิ่มเติมในเรื่องการพูดในที่ชุมชนด้วย
ข. การสอนแบบอภิปราย (Small Group Teaching)
การสอนแบบอภิปรายเป็นวิธีการสอนที่เหมาะสมกับผู้ฟังกลุ่มเล็กๆ จำนวนประมาณ 20-30 คน วิธีสอนแบบนี้ส่งเสริมให้ผู้ฟังได้รู้จักใช้ความคิด วิเคราะห์วิจารณ์ กล้าแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนประสบการณ์
ลักษณะการสอนแบบอภิปรายนี้ เน้นให้ผู้ฟ้งได้มีส่วนร่วมในการคิดการพิจารณาเนื้อหาที่ได้มีการพูดการบรรยายกันไปบ้างแล้ว โดยเสนอต่อผู้ถ่ายทอด หรือผู้ฟังด้วยกันเอง การเสนอความเห็นนั้นไม่มีข้อกำหนดที่ตายตัว ไม่ใช่เป็นแบบผิดหรือถูก ใช่หรือไม่ใช่ ดีหรือไม่ดีเท่านั้น แต่เป็นการเสนอความเห็นที่มีเหตุผลอธิบายมีคำชี้แจงประกอบ การสอนแบบอภิปรายจึงเหมาะสำหรับการให้ความรู้ที่ไม่มีคำตอบตายตัว แต่จะนำไปสู่ข้อสรุปหรือแนวทางในการดำเนินงานต่อไป ดังนั้น การสอนแบบอภิปรายจึงเน้นการแลก เปลี่ยนความรู้และทัศนะ ระหว่างผู้สอนกับผู้ฟัง
การสอนแบบอภิปรายมีอยู่ 2 รูปแบบใหญ่ๆ คือ (1) การอภิปรายกลุ่มใหญ่ และ (2) การอภิปรายกลุ่มย่อย
1. การอภิปรายกลุ่มใหญ่มีสามประเภทคือ
- การอภิปรายแบบซักถามทั่วไป (Open Forum Discussion) ผู้สอนเป็นผู้เริ่มนำอภิปรายแล้วจึงเปิดโอกาสให้ตัวแทนกลุ่มเสนอความเห็น ผู้ฟังสามารถแทรกความเห็นได้บ้างเป็นครั้งคราว ดังนั้นจึงควรจัดห้องให้เหมาะสมในการยืนหรือเดินไปที่ไมโครโฟน ผู้สอนต้องคอยคิดปัญหาเพิ่มเติม คอยสรุปประเด็นให้ผู้ฟังจำนวนมากติดตามอย่างสนุก ได้ความรู้เป็นขั้นเป็นตอน
- การอภิปรายซักถามท้ายชั่วโมง เป็นวิธีการที่ใช้ประกอบการบรรยาย ดังที่ได้อธิบายไว้ในเรื่องการถ่ายทอดแบบบรรยาย
- การปรึกษาหารือ (Buzz Group) เหมาะสำหรับผู้ฟังที่เป็นผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์และความคิดเห็นของตนในเรื่องนั้นอยู่บ้างแล้ว ผู้ถ่ายทอดอาจจะแบ่งผู้ฟังออกเป็นกลุ่ม กลุ่มละประมาณ 5-10 คน แล้วให้ปรึกษาหารือกันประมาณ 10-20 นาที เสร็จแล้วให้แต่ละกลุ่มส่งตัวแทนมาสรุป จากนั้นผู้ถ่ายทอดก็จะสรุปและประเมินผลในตอนท้ายอีกครั้งหนึ่ง
2. การอภิปรายกลุ่มย่อย
เหมาะสำหรับกลุ่มคนตั้งแต่ 5 คน แต่ไม่เกิน 20 คน การอภิปรายกลุ่มย่อยนี้มีอยู่หลายประเภท เช่น
- การระดมสมอง (Brain Storming) เหมาะสำหรับการถ่ายทอดที่ต้องการให้ผู้ฟังเสนอความคิดเพื่อแก้ปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่ง และไม่จำเป็นต้องมีการวิจารณ์ ผู้ถ่ายทอดจะตั้งประเด็นให้อภิปรายหรือตั้งปัญหาให้ช่วยกันแก้ แล้วให้ทุกคนเสนอความเห็นหรือทางเลือกโดยผู้สอนรวบรวมไว้บนกระดานหรือกระดาษ จัดให้เป็นหมวดหมู่ เปิดโอกาสให้ผู้ฟังได้ทบทวน เสร็จแล้วผู้สอนจะสรุป และให้ความรู้เพิ่มเติมในตอนท้าย
- การอภิปรายทบทวน (Tutorial Group) ผู้สอนจะกำหนดหัวข้อขึ้นมาก่อน แล้วมอบหมายให้ผู้ฟังไปศึกษาทำความเข้าใจมาก่อนล่วงหน้า เมื่อถึงเวลาอภิปรายผู้สอนจะเริ่มต้นด้วยการซักถาม ทดสอบผู้ฟัง แล้วให้ผู้ฟังตอบ เสนอรายงานหรือนำเสนอเนื้อหาที่เตรียมมา ผู้ฟังคนอื่นๆจะต้องร่วมซักถามพร้อมกันไป วิธีนี้เหมาะกับผู้ฟังจำนวน 5-10 คน เพราะทุกคนจะได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น ซักถามได้ โต้แย้งได้
- การเวียนปัญหา (Circular Response) เป็นวิธีการที่ใช้เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสพูด และแก้ความอายของผู้ฟัง ดังนั้นจึงควรให้ผู้ฟังนั่งเป็นรูปวงกลมหรือวงรี ผู้สอนนั่งเป็นประธาน แล้วตั้งปัญหาขึ้นมา จากนั้นเวียนให้ผู้ฟังทุกคนตอบคำถาม หรืออภิปรายไปทีละคนโดยใช้เวลาพอสมควร เมื่อครบรอบแล้ว ผู้สอนก็สรุปประเด็นและเปิดให้อภิปรายรอบใหม่อีกครั้ง เนื้อหาที่นำมาอภิปรายกันนั้น ผู้ฟังควรมีพื้นฐานความรู้มาบ้างแล้ว และสามารถพูดได้ในหลายลักษณะ
- การอภิปรายกรณีเรื่อง (Case Discussion) จุดประสงค์เพื่อให้ผู้ฟังได้ร่วมกันอภิปรายปัญหาใดปัญหาหนึ่ง เพื่อฝึกฝนการแก้ปัญหา การคิดอย่างมีเหตุผล การวิพากษ์วิจารณ์ความคิดของผู้อื่น และเรียนรู้จากการอภิปรายของผู้ฟังด้วยกัน ดังนั้น จึงควรให้ผู้ฟังเตรียมปัญหาหรือเรื่องของตนมาเสนอต่อที่ประชุม แล้วมาเลือกก่อนที่จะเปิดการอภิปราย ผู้สอนควรเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมมากที่สุด การอภิปรายวิธีนี้เหมาะกับผู้ฟังจำนวนไม่เกิน 15 คน
- การอภิปรายโดยอิสระ (Free Discussion) เปิดโอกาสให้ผู้ฟังดำเนินการอภิปรายกันเอง โดยเลือกประธานขึ้นมา แล้วให้ประธานนั้นดำเนินการอภิปราย ผู้ถ่ายทอดทำตัวเป็นสมาชิกคนหนึ่งของกลุ่ม คอยช่วยสรุปหรือแก้ปัญหาเมื่อจำเป็น
- การจำลองสถานการณ์จากของจริง (Role Playing) เป็นการสร้างสถานการณ์คล้ายของจริงหรือจำลองบทบาทเลียนแบบเรื่องราวที่เกิดขึ้นเพื่อนำไปสู่การอภิปรายเพื่อแก้ปัญหานั้น ผู้สอนจะกำหนดให้ผู้ฟังมีบทบาทสมมติ หรือเล่นเกมส์ตามความเหมาะสม เพื่อไม่ให้การสอนซํ้าซากจำเจ และเป็นการฝึกทักษะของผู้ฟังได้ตามต้องการ
- การรวบรวมความเห็น (Syndicate Method) เป็นการอภิปรายโดยแบ่งผู้ฟังออกเป็นกลุ่ม กลุ่มละประมาณ 5 คน ผู้ถ่ายทอดจะแจกเอกสารให้แต่ละกลุ่มเพื่อให้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันและหาข้อสรุปตามคำถามที่ได้ตั้งไว้ หลังจากที่ได้อภิปรายกันแล้ว แต่ละกลุ่มก็จะนำข้อสรุปของตนมาเสนอหน้าชั้นอีกครั้งหนึ่ง โดยผู้สอนจะทำการสรุปในตอนท้าย
- การจับคู่ (Learning Cell) โดยให้ผู้ฟังจับคู่กัน แล้วแลกเปลี่ยนความรู้กัน ในขอบเขตเนื้อหาที่ผู้สอนเป็นผู้กำหนดและมอบหมายให้ ด้วยการตั้งคำถามและตอบคำถาม ผู้ฟังจะได้ความรู้เพิ่มขึ้นเพราะมีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้กับคนอื่น ทั้งยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี และความสนิทสนมในหมู่ผู้ฟังกันเองด้วย
ค. การสอนแบบฝึกปฏิบัติ (Learning by Doing)
การสอนแบบฝึกปฏิบัตินี้เน้นให้ผู้ฟังฝึกการปฏิบัติมากกว่าการพูด การฟัง อาจเป็นการปฏิบัติงานจริงกับของจริง การฝึกกิจกรรมปฏิบัติเน้นที่ทักษะในเรื่องนั้นๆ การทำแบบฝึกหัด การทำแบบทดสอบ การทำแบบประเมินผลที่สามารถนำไปสู่ข้อสรุปของเรื่องที่จะสอน
การสอนแบบนี้จะมีสัดส่วนการลงมือปฏิบัติอยู่ประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ มีการพูดการบรรยาย การสรุปอยู่เพียง 20-30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
ง. การสอนโดยให้ค้นคว้าเอง (Self Help)
การสอนแบบนี้เน้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง ช่วยตัวเอง ผู้สอนเพียงแต่ชี้แนะแหล่งข้อมูลและตัวบุคคลที่เขาจะไปค้นคว้าหรือสอบถามได้ด้วยตัวเอง ผู้สอนทำหน้าที่เพียงแต่เป็นผู้ให้กำลังใจ สร้างแรงจูงใจ กระตุ้น ช่วยสรุปและให้ข้อคิดเห็นบ้าง รวมทั้งเป็นพี่เลี้ยงคอยติดตามความก้าวหน้าของผู้นั้น
หลักการเลือกรูปแบบการสอน
ในการพิจารณาว่าเราควรเลือกรูปแบบการสอนแบบใดดีนั้น มีหลักดังนี้ คือ
- เลือกรูปแบบการสอนที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของเนื้อหาที่จะสอน
วัตถุประสงค์ของการสอนมี 3 แบบ คือ (1) ให้ความรู้ (2) ให้ทัศนคติ (3) ให้ทักษะ ผู้สอนต้องพิจารณาว่า สิ่งที่ต้องการสอนเป็นแบบไหน และเลือกวิธีการสอนที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ ตัวอย่างเช่นหากต้องการสอนให้คนรู้เรื่องประวัติศาสตร์ก็อาจใช้การบรรยายได้ แต่ถ้าต้องการสอนให้คนพิมพ์ดีดเป็น ก็ไม่ควรใช้การบรรยายอย่างเดียว เพราะถึงจะให้ความรู้อย่างไรก็ไม่สามารถทำให้เขาพิมพ์ดีดเป็น ต้องให้ทักษะแก่เขา จึงควรสอนแบบฝึกปฏิบัติ คือให้เขาฝึกพิมพ์ดีดจริงๆจึงจะทำเป็น
- เลือกรูปแบบการสอนกี่เหมาะสมกับธรรมชาติของผู้เรียน/ผู้ฟัง
ผู้เรียนในแต่ละวัย แต่ละพื้นฐานการศึกษาและประสบการณ์ มีความสามารถในการเรียนรู้แตกต่างกันความพร้อมในการเรียนรู้ต่างกัน ความสนใจแตกต่างกัน เช่น เด็กมีสมาธิในการนั่งฟังสั้นกว่าผู้ใหญ่ผู้สอนต้องใช้เวลาสอนเป็นช่วงเวลาสั้นๆ หรือใช้กิจกรรมที่ให้เด็กเรียนรู้ผ่านทางกิจกรรมที่สนุกสนานเพลิดเพลิน ซึ่งเป็นการสอนการเรียนที่ไม่รู้ตัว
- เลือกรูปแบบการสอนที่เหมาะกับจำนวนผู้ฟัง
จำนวนผู้เรียนมากก็มักต้องใช้การบรรยาย คนจำนวนน้อยก็ใช้การอภิปรายได้
- เลือกรูปแบบการสอนที่เหมาะกับพื้นฐานความรู้ของผู้ฟัง
เช่น ผู้ใหญ่ก็มีความภาคภูมิใจในความรู้และประสบการณ์ของตน การสอนคนวัยผู้ใหญ่ จึงควรให้เขามีโอกาสได้แสดงความรู้และประสบการณ์ของเขาบ้าง ก็จะทำให้เขามีความสนใจในการเรียนการสอนมากขึ้น แต่ไม่ว่าจะเลือกรูปแบบการสอนอย่างใดก็แล้วแต่ ต้องคำนึงไว้เสมอว่าต้องทำให้ผู้เรียนมีความเพลิดเพลินในการเรียนรู้ด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น