ผู้นำกับการพูดในที่ชุมชน
ในการเป็นผู้นำจำเป็นต้องมีการพูด เพราะในการนำต้องมีการสื่อสาร และการพูดเป็นการสื่อสารขั้นพื้นฐานที่สุด การพูดที่จะกล่าวถึงในที่นี้ไม่ได้หมายถึง การพูดคุยสนทนาทั่วไปในชีวิต แต่เป็นการพูดต่อหน้าที่ชุมชนซึ่งผู้ที่เป็นผู้นำมักจะต้องมีโอกาสพูดต่อกลุ่มคนอยู่บ้าง คริสเตียนที่เป็นผู้นำต้องมีโอกาสได้พูดต่อที่ชุมชนอยู่เสมอ เช่น เทศนา สอน นำนมัสการ ประกาศข่าว กล่าวต้อนรับ กล่าวขอบคุณ กล่าวเปิดกล่าวปิดการประชุมนำการประชุม ฉะนั้น ผู้นำคริสเตียนจึงควรพัฒนาทักษะการพูดในที่ชุมชน
เราจะศึกษาหลักการพูดในที่ชุมชน โดยพิจารณา 3 เรื่องคือ (1) การเตรียมเนื้อหาการพูด (2) เทคนิคการพูด (3) หลักการพูดในโอกาสต่าง ๆ
การเตรียมเนื้อหาการพูด
ในการศึกษาเรื่องการเตรียมเนื้อหาการพูด จะศึกษา 4 หัวข้อคือ โครงสร้างการพูด คำทักทาย คำนำ เนื้อเรื่อง และสรุป
ก. โครงสร้างการพูด
โครงสร้างของการพูดมีการแบ่งสัดส่วนของเนื้อหาเป็น 3 ช่วง คือ (1) คำนำหรือคำขึ้นต้นควรมีสัดส่วนร้อยละ 5-10 (2) เนื้อเรื่อง ควรมีสัดส่วนร้อยละ 80-90 (3) สรุป ควรมีสัดส่วนร้อยละ 5-10
ข. คำทักกาย
คำทักทายมี 2 แบบคือ (1) แบบที่เป็นพิธีการ - ใช้ในโอกาสที่เป็นทางการ เช่น การเปิดงานการแสดงปาฐกถา ตัวอย่างเช่น “ท่านประธาน ท่านคณาจารย์ และท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน” หรือ “เพื่อนนักศึกษาทุกท่าน” เป็นต้น (2) แบบไม่เป็นพิธีการ ใช้ในการพบปะ ปราศรัย หรืองานเลี้ยงที่ไม่เป็นพิธีการมาก ตัวอย่างเช่น “พ่อแม่พี่น้องที่เคารพรัก” หรือ “สวัสดีเพื่อนสนิทมิตรสหาย” เป็นต้น
หลักในการกล่าวคำทักทายมีดังนี้คือ
- ควรจะทักเฉพาะประธานในพิธีและบุคคลสำคัญอีกเพียง 1 หรือ 2 คน ไม่ควรกล่าวเกิน 3 ชื่อ แล้วจึงปิดโดยการทักรวมทั้งหมด เช่น “และแขกผู้มีเกียรติทุกท่าน”
- เมื่อกล่าวถึงผู้ใด กลุ่มใด ให้หันหน้าไปทางนั้นเพื่อเป็นการให้เกียรติและแสดงความจริงใจในการทักทาย
- หากมีผู้รับใช้พระเจ้าหรือผู้ที่อยู่ในเพศบรรพชิตอยู่ในที่นั้นด้วย เป็นธรรมเนียมที่ต้องกล่าวทักทายท่านเหล่านั้นก่อนเสมอ เช่น “ท่านอาจารย์ ท่านผู้นำ และท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน” หรือ “นมัสการพระคุณเจ้า ท่านคณาจารย์ และท่านผู้เข้ารับการอบรมทุกท่าน” เป็นต้น
ค. คำนำ หรือคำขึ้นต้น
คำนำหรือคำขึ้นต้นเป็นการพูดเกริ่นเพื่อนำเข้าสู่เนื้อหาสาระ เพื่อสร้างความสนใจต่อเนื้อหาที่จะกล่าวต่อไป วิธีการขึ้นต้นคำนำที่ดีคือ
1. ขึ้นต้นแบบพาดหัวข่าว
2. ขึ้นต้นด้วยการตั้งคำถาม
3. ขึ้นต้นด้วยทำให้ผู้ฟังสงสัย
4. ขึ้นต้นด้วยการอ้างบทกวี หรือวาทะของบุคคลสำคัญ
5. ขึ้นต้นด้วยสิ่งที่คนสนใจหรืออารมณ์ขัน
ข้อห้ามสำหรับการขึ้นต้น คือ
- อย่าทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่าไม่มีประโยชน์ที่จะฟังต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการออกตัวว่าเตรียมไม่พร้อม ขออภัยว่าจะพูดไม่ดี การถ่อมตัวว่าไม่มีความรู้ในเรื่องที่จะพูด
- อย่าอ้อมค้อม
ง. เนื้อเรื่อง
เนื้อเรื่องเป็นส่วนเนื้อหาสาระที่จะพูดมี 2 ประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ การวิเคราะห์การพูด วางแผนการพูด
วิเคราะห์การพูด
ในการพูดต้องคำนึงถึงผู้ฟังโดยวิเคราะห์ในเรื่อง วัย เพศ การศึกษา จำนวนผู้ฟัง และกลุ่มทางสังคมของผู้ฟัง
วัยเด็ก จะอยู่นิ่งนานๆไม่ได้ อาจจะมีความตั้งใจฟังไม่เกิน 15 นาที คำพูดจึงควรใช้คำง่ายๆ เรื่องและตัวอย่างไม่ลึกซึ้งไม่ซับซ้อนเห็นภาพชัด เด็กจะสนใจเรื่องใกล้ตัว เช่น บ้าน โรงเรียนและเพื่อน เป็นต้น นํ้าเสียงจะต้องให้ความรู้สึกสนุกสนาน ไม่ใช่เสียงเบาๆ หรือเรียบๆ ควรมีเรื่องสนุกหรือตลกแทรกเป็นระยะๆ และต้องพยายามเพิ่มความอยากรู้อยากเห็นของเด็กไปเรื่อยๆ อย่าให้เดาตอนจบได้
วัยรุ่น จะสนใจเรื่องที่ท้าทายต่างๆ ต้องการลองดีกับสิ่งใหม่ๆ บูชาวีรบุรุษ เมื่อต้องพูดให้วัยรุ่นฟังจะต้องคำนึงถึงหลักจิตวิทยาให้มาก จะต้องพยายามทำตัวให้ผู้ฟังเลื่อมใส อย่าพูดแบบข่ม อาจจะมีการแทรกเรื่องสนุกหรือตลกเป็นระยะๆ แต่ต้องระวังอย่าให้เป็นเรื่องพื้นๆ
วัยผู้ใหญ่ เนื่องจากวัยนี้เป็นวัยที่มีเหตุผล มีความสนใจในเรื่องที่เป็นสาระ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับตนเอง การพูดจึงต้องตระเตรียมเรื่องให้รอบคอบมีเหตุผล ใช้คำพูดที่มีอิทธิพลที่จะชักจูงความคิดของผู้ฟังได้ ไม่ควรพูดเรื่องตลกไร้สาระ แต่ก็อาจมีเรื่องเบาสมองแทรกได้เป็นครั้งคราวและไม่ควรพูดเยิ่นเย้อ
วัยชรา คล้ายกับวัยผู้ใหญ่ แต่ต้องใช้ถ้อยคำที่แสดงว่าผู้พูดนับถือคุณวุฒิและวัยวุฒิของผู้ฟังที่มากกว่า และควรพูดในทำนองปรึกษาหารือ ปรับทุกข์ และอาจจะเอ่ยถึงเรื่องความสำเร็จในอดีตของผู้ฟัง เพื่อทำให้เขาพอใจ
เพศ เพศหญิงจะสนใจในเรื่องของความสวยงาม เพศชายจะสนใจเรื่องการผจญภัย การเมือง กีฬา
เป็นต้น
การศึกษา หากผู้ฟ้งมีหลายระดับการศึกษา ให้ยึดหลักง่ายๆคือ พูดให้ผู้ที่มีความรู้น้อยที่สุดฟังเข้าใจ แล้วคนอื่นจะเข้าใจเอง การใช้อารมณ์ขันให้อยู่ในระดับปานกลาง อย่าตื้นหรือลึกเกินไปจนผู้ฟังกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่เข้าใจ หรือฝืดเกินไปจนรับไม่ได้
จำนวนผู้ฟัง หากผู้ฟังยิ่งมาก ความเป็นตัวของตัวเองของแต่ละคนก็จะลดน้อยลง อิทธิพลของกลุ่มจะเข้ามาผลักดันให้บุคคลทำตามกลุ่ม การพูดจึงจำเป็นจะต้องระมัดระวัง และควรศึกษาในเรื่องจิตวิทยาฝูงชนด้วย
กลุ่มทางสังคม กลุ่มแต่ละกลุ่มย่อมมีผลประโยชน์ต่างกัน หรือมีอุดมคติความเชื่อต่างกัน ก่อนจะพูดจึงจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาผู้ฟังอย่างดี และจะต้องรู้สถานการณ์ด้วย หากเข้าใจกลุ่มผู้ฟังแล้วก็จะช่วยให้ง่ายต่อการเตรียมเนื้อหา สามารถที่จะกำหนดได้ว่าจะพูดเรื่องอะไร และไม่ควรพูดเรื่องอะไร มีวัตถุประสงค์ในการพูดเพื่ออะไร เรื่องที่จะพูดจะเน้นส่วนไหน เนื้อหามีเรื่องอะไรบ้าง จะจัดความสำคัญของหัวข้อที่จะพูดอย่างไร จะขยาย อธิบายเพิ่มเติมอย่างไร หลังจากนั้นก็ค้นคว้าหาข้อมูลจากหนังสือ ตำราต่างๆ อาจถามจากผู้รู้ หรืออาศัยจากประสบการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเก็บเล็กผสมน้อย ปะปนกันไปก็ได้
ขั้นวางแผนการพูด
หลังจากเตรียมเรื่อง เตรียมประเด็นที่จะพูดได้ทั้งหมดแล้ว ก็ต้องลำดับประเด็นที่จะพูด ซึ่งแบ่งได้เป็นหลายวิธี เช่น พูดจากง่ายไปหายาก จากยากมาหาง่าย จากสำคัญน้อยไปสำคัญมาก หรือพูดตามลำดับเวลา เหตุการณ์ นอกจากนี้อาจมีการเตรียมตัวอย่างประกอบ ซึ่งอาจเป็นสุภาษิตคำพังเพย การเปรียบเทียบ อาจมีการนำกิจกรรม เกมส์ เพลง หรือวิธีการอื่นๆมาเสริมการพูด รวมทั้งจะต้องกำหนดเวลาที่จะใช้ในการพูดแต่ละประเด็นด้วย
จ.สรุปจบ
การสรุปจบ ต้องสร้างความประทับใจในการปิดของการพูด หากการพูดที่ผ่านมายังไม่กระจ่างนักก็ใช้ช่วงนี้ที่จะสร้างความกระจ่างเพิ่มเติมหรือเป็นการเพิ่มนํ้าหนักความน่าเชื่อถือของเรื่องที่จะพูด เพื่อเร้าใจให้ผู้ฟังต้องการที่จะปฏิบัติในสิ่งที่เสนอ รูปแบบการสรุปที่ดีคือ
1. จบแบบสรุปความคือ ย่อเรื่องทั้งหมดที่พูดมาเป็นหัวข้อสั้นๆเพื่อทบทวนและจำง่าย
2. จบแบบฝากให้คิดคือ ปัญหาบางอย่างมีคำตอบอาจจะไม่ชัดเจนตายตัว ผู้พูดอาจทิ้งท้ายไว้ให้ผู้ฟังนำไปคิดเป็นการบ้าน
3. จบแบบชักชวนและเรียกร้อง เป็นการเร้าอารมณ์ของผู้ฟังให้ขึ้นถึงจุดสูงสุดของอารมณ์
4. จบด้วยคำคม สุภาษิต หรือบทกวี
อย่าสรุปจบแบบห้วนๆหรือจืดชืด เช่น “ขอจบเพียงเท่านี้” “หวังว่าเรื่องที่พูดไปคงเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย” “ขออภัยเพราะเวลาหมดแล้ว” “ขอขอบคุณที่ตั้งใจฟัง”
เทคนิคการพูด
บุคลิกภาพ
1. การแต่งกาย สุภาพและสะอาดเรียบร้อย รูปแบบ รูปทรง สี เหมาะสมกับกาลเทศะหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะเบี่ยงเบนความสนใจของผู้ฟังได้ง่าย เช่น อย่าใช้เครื่องประดับที่รกรุงรัง ดูน่าเกะกะ และเป็นประกายสะท้อนมากเกินไปอย่างตุ้มหูยาวๆ อย่าใส่อะไรในกระเป๋าเสื้อหรือกางเกงจนตุง
2. ทรงผมสุภาพ ไม่ทำผมปรกหน้า ควรทำผมให้อยู่ทรงเพื่อไม่ต้องพูดไปเสยผมไป เป็นต้น
ภาษา
- ใช้ภาษาสุภาพ และถ้าจำเป็นต้องใช้คำหยาบจริงๆ ควรให้เหตุผลที่ต้องใช้ และต้องขอโทษผู้ฟัง
ก่อน
- ใช้ภาษาที่ถูกต้องตามหลักภาษา และภาษาที่ผู้ฟังทุกคนเข้าใจง่าย หากต้องใช้ภาษาที่ผู้ฟัง
บางส่วนไม่เข้าใจ ต้องแปล เช่น ตัวย่อ แสลง ภาษาถิ่น หรือภาษาต่างประเทศ
3. มีสำนวนภาษาที่น่าสนใจ น่าติดตาม เร้าความสนใจ
4. ออกเสียงตัว ร เรือ ล ลิง ให้ชัดเจน
5. หลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยคำหรือออกเสียงที่ไม่มีความหมาย เช่น แบบว่า เอ้อ อ้า อืม
น้ำเสียง
- นํ้าเสียงนุ่มนวล กังวาน และเป็นธรรมชาติ ควรหลีกเลี่ยงการใช้นํ้าเสียงที่ก่อความระคายเคืองแก่
ผู้ฟัง เช่น สูงแหลม ห้าวกระด้าง ตํ่าแหบแห้ง
- ควรมีน้ำเสียงสูงตํ่า ดังเบา เร็วช้า ตามเนื้อหา อารมณ์ และจังหวะของการพูด อย่าให้ราบเรียบระดับ
เดียวเหมือนท่อง
- เสียงดังพอที่จะให้ผู้ฟังด้านหลังสุดได้ยิน
กิริยาท่าทาง
- สีหน้า ควรยิ้มละมัย ไม่เคร่งเครียด ขณะเดียวกันก็สามารถปรับสีหน้าไปตามเนื้อหาและอารมณ์ของ
การพูดได้
- สายตา สบตาผู้ฟังอย่างทั่วถึงโดยการกวาดสายตาไปทางซ้าย-ขวา กลับไปกลับมาอย่างช้า เป็น
ธรรมชาติ และเมื่อต้องการมองผู้ฟังทั้งหมดให้มองตรงบริเวณตรงกลางของผู้ฟังแถวหลังสุด อย่าจ้องมองเพดาน มองพื้น มองออกหน้าต่าง ก้มหน้า หรือหลับตาไปอย่างเดียว ยิ่งกว่านั้นอย่าสวมแว่นดำ หากจำเป็นก็ให้ใช้แว่นเคลือบสีอ่อนๆ อย่ามองลอดแว่น
- ศีรษะ ปกติควรตั้งตรง และสามารถใช้สั่นศีรษะหรือผงกศีรษะเพื่อแสดงอาการเห็นด้วยไม่เห็นด้วย
ประกอบการพูดได้
- การเดิน การเดินขึ้นเวที ให้เดินอย่างสง่าผ่าเผย ไม่ช้าหรือเร็วเกินไป เมื่อถึงจุดยืนให้หยุดอึดใจหนึ่ง
กวาดสายตาไปที่ผู้ฟังแล้วค่อยเริ่มพูด
- การเดินลงจากเวที เดินให้สง่าผ่าเผย ไม่ช้าหรือเร็วเกินไป อย่าทำท่าโล่งอกที่พูดจบ
- การเดินขณะที่พูดบนเวที เดินได้บ้าง แต่อย่าเดินไปมาๆ จนผู้ฟังเวียนหัว และต้องมองผู้ฟังด้วย
- การยืน การยืนที่ดีจะช่วยทำให้ยืนได้นาน และไม่รู้สึกเมื่อยเร็ว เวลายืนลำตัวต้องตั้งตรง หลังไม่งอ
ปลายเท้าทั้งสองข้างไม่ชิดหรือห่างเกินไป ควรมีระยะห่างประมาณหนึ่งฝ่ามือ ปลายเท้าเสมอกัน หรือข้างหนึ่งล้ำออกไปเล็กน้อยก็ได้ ปล่อยมือลงข้างลำตัวแบบสบายๆ ไม่ต้องเหยียดฝ่ามือ นิ้วชิด อย่ายืนกุมมือ ถ่างขา ตัวเกร็ง เอามือไพล่หลัง ล้วงกระเป๋า ท้าวเอว พิงโต๊ะท้าวโต๊ะ ยืนพักขา เอามือลูบขาลูบแขน เอามือจับกระดุม เป็นต้น
- การนั่ง การนั่งบนเวที หรือนั่งหน้าที่ประชุม ควรนั่งหลังตรง วางมือ บนตัก หน้าตรงไม่ควรไขว่ห้าง
ยกขา ครึ่งนั่งครึ่งนอน ถ่างขา เหยียดขาออกนอกโต๊ะ หันไปหันมา ควรมองที่ประชุมหรือผู้ที่กำลังพูดอยู่ขณะนั้น
- การใช้มือ โดยปกติมือจะวางข้างลำตัวสบายๆ แต่สามารถใช้มือและนิ้วทำท่าทางประกอบในการ
พูดได้เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจ และเร้าความรู้สึกของผู้ฟัง เช่น ผายมือไปยังใครบางคนเพื่อเป็นการให้เกียรติ ชูมือขึ้นพร้อมกับกำมือหรือชี้นิ้วขึ้นเป็นการเน้นถึงความเอาจริงเอาจัง ความเข้มแข็ง หรือชูนิ้วตามจำนวนที่พูดถึง เป็นต้น แต่ห้ามใช้นิ้วชี้ตรงไปยังผู้ฟัง
การใช้ไมโครโฟน
ก่อนเริ่มพูดควรปรับระดับความสูงของไมโครโฟนให้ตรงกับปากของเราพอดี และขณะที่ปรับความสูงนั้น หากไมโครโฟนมีสวิทช์ก็ให้ปิดสวิทช์เสียก่อน เมื่อปรับได้ระดับที่พอใจแล้วก็เปิดสวิทช์คืน ให้ปากอยู่ห่างไมโครโฟนประมาณ 5-6 นิ้ว แล้วค่อยพูด หากไม่ค่อยได้ยินเสียงก็ค่อยๆเขยิบเข้าไปใกล้อีก ก่อนพูดไม่ต้องทดลองเสียงด้วยวิธีใดๆทั้งสิ้น เจ้าหน้าที่เสียงจะปรับให้เอง หากจำเป็นต้องถือไมโครโฟนเอง เนื่องจากไม่มีขาตั้ง ก็ให้ถือโดยจับช่วงกลางของไมโครโฟน อย่าจับที่หัวหรือท้าย อย่าม้วนสาย
การใช้อุปกรณ์ประกอบ
การใช้อุปกรณ์ชี้ ถ้าเป็นไม้ยาว ใช้เสร็จก็ให้ถือไว้ อย่าแกว่งเล่น หากเป็นอุปกรณ์สั้น ให้ถือมือเดียว ใช้เสร็จก็วาง
- การใช้เครื่องฉายข้ามศีรษะ อย่าเปิดแช่ไว้นาน หากเปลี่ยนแผ่นใส ให้ปิดแล้วค่อยเปิด
หรืออาจจะใช้เทคนิคในการใช้กระดาษอื่นปิดแผ่นใสก่อน แล้วค่อยเลื่อนให้ผู้ฟังดูทีละประเด็นก็ได้
หลักการพูดในโอกาสต่างๆ
ก. การเป็นโฆษก/พิธีกร
1. กล่าวคำทักทาย และวัตถุประสงค์ของงาน
2. กล่าวชี้แจงขั้นตอนต่างๆที่จะเกิดขึ้น
3. กล่าวเชื่อมขั้นตอนแต่ละขั้นตอน
4. กล่าวขอบคุณ / ขอให้ผู้ฟังปรบมือในบางโอกาส
ข. การกล่าวแนะนำผู้พูด
1. กล่าวคำทักทาย
2. กล่าวแนะนำประวัติผู้พูด เช่น ชื่อ คุณวุฒิ ตำแหน่ง ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ เป็นต้น ควรกล่าวในเชิงบวกเพื่อทำให้ผู้ฟังรู้สึกอยากจะฟังผู้ที่จะขึ้นมาพูด
3. กล่าวแนะนำเรื่องที่จะพูด
4. เชิญผู้พูดขึ้นพูด
ค. การกล่าวขอบคุณผู้พูด
1. กล่าวสรุปเรื่องหรือเนื้อหาอย่างสั้นๆ
2. กล่าวเน้นชี้ให้เห็นว่าผู้ฟังจะได้ประโยชน์จากการฟัง
3. กล่าวเชื้อเชิญวิทยากรเพื่อการพูดต่อไป
4. กล่าวขอบคุณ เชิญชวนผู้ฟังปรบมือให้วิทยากร
ง. การกล่าวต้อนรับผู้มาเยือน
1. กล่าวคำทักทาย
2. กล่าวความรู้สึกยินดีของเจ้าของสถานที่
3. กล่าวถึงส่วนดีของผู้มาเยี่ยม
4. กล่าวถึงความสัมพันธ์ของผู้มาเยี่ยมกับเจ้าของสถานที่
5. กล่าวถึงความปรารถนาดีของเจ้าของสถานที่
6. กล่าวเชิญชวนเรียกร้องให้ผู้เยี่ยมกลับมาเยี่ยมอีก
จ. การกล่าวตอบการต้อนรับหรือการอำลาการเยี่ยมชม
1. กล่าวคำทักทาย
2. กล่าวขอบคุณ
3. กล่าวถึงความประทับใจในการต้อนรับ และความมีไมตรีจิตจากเจ้าของสถานที่
4. กล่าวเชื้อเชิญให้ไปเยี่ยมตนบ้าง
ฉ. การกล่าวต้อนรับผู้เข้ารับตำแหน่ง
1. กล่าวคำทักทาย
2. กล่าวแสดงความรู้สึกยินดีต้อนรับ
3. กล่าวแนะนำประวัติชีวิตของผู้เข้ารับตำแหน่งอย่างย่อ
4. กล่าวแนะนำผลงาน ความสามารถของผู้เข้ารับตำแหน่ง
5. กล่าวแสดงความคาดหวัง / อวยพร ให้ผู้เข้ารับตำแหน่งมีความสุข ความพอใจในสถานที่ใหม่ พร้อมทั้งคาดหวังว่าเจ้าของสถานที่จะให้ความร่วมมือและเป็นมิตร
ช. การกล่าวตอบในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่
1. กล่าวคำทักทาย
2. กล่าวแสดงความรู้สึกยินดีที่ได้มาทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงาน
3. กล่าวยกย่องสถาบัน / สถานที่ที่ตนจะมาทำงาน
4. กล่าวถึงหลักการ / อุดมคติในการทำงานของตน
5. กล่าวถึงความตั้งใจในการทำงาน และขอความร่วมมือจากเพื่อนร่วมงาน
ซ. การกล่าวเลี้ยงส่งบุคลากร
1. กล่าวคำทักทาย
2. กล่าวถึงความสัมพันธ์ของผู้ที่จะจากไปกับผู้ที่อยู่
3. กล่าวถึงคุณงามความดีทั้งในด้านการงาน / ส่วนตัวของผู้ที่จะไป
4. กล่าวถึงความอาลัยอาวรณ์ของผู้ที่อยู่
5. กล่าวอวยพรให้มีอนาคตที่ก้าวหน้า และเจริญรุ่งเรือง
ฌ. การกล่าวตอบของบุคลากรที่จะย้ายไป
1. กล่าวคำทักทาย
2. กล่าวขอบคุณที่จัดงานให้แก่ตน
3. กล่าวถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างตนกับเพื่อนร่วมงาน
4. กล่าวขอบคุณผู้ที่ได้ให้ความช่วยเหลือในการปฏิบัติงาน
5. กล่าวแสดงความอาลัย
6. กล่าวอวยพร
ญ. การกล่าวอวยพรวันคล้ายวันเกิด
1. กล่าวคำทักทาย
2. กล่าวถึงความรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มากล่าวอวยพร
3. กล่าวถึงความสัมพันธ์หรือความคุ้นเคยที่ผู้พูดมีต่อบุคคลนั้น
4. กล่าวถึงคุณงามความดีหรือความสำเร็จของเจ้าของวันคล้ายวันเกิด รวมทั้งกล่าวถึงการ
เป็นที่พึ่งของบุตรหลาน หากเจ้าของวันเกิดเป็นผู้อาวุโสของครอบครัว
5. กล่าวอวยพร
ฎ. การกล่าวตอบคำอวยพรวันคล้ายวันเกิด
1. กล่าวคำทักทาย
2. กล่าวขอบคุณผู้ที่มาร่วมงาน และผู้มีส่วนร่วมในการจัดงาน
3. กล่าวขออภัยความบกพร่อง
4. กล่าวอวยพร
ฏ. การกล่าวอวยพรในงานสมรส
1. กล่าวคำทักทาย
2. กล่าวถึงความรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ขึ้นมากล่าวคำอวยพร
3. กล่าวถึงความสัมพันธ์ของผู้พูดกับเจ้าบ่าวและเจ้าสาว
4. กล่าวแนะนำการใช้ชีวิตครองรักครองเรือน
5. กล่าวอวยพร (อาจมีการเชิญดื่มอวยพร)
ฐ. การกล่าวตอบของคู่บ่าวสาวหรือเจ้าภาพในงานสมรส
1. กล่าวคำทักทาย
2. กล่าวขอบคุณแขกที่มาร่วมงาน
3. กล่าวขออภัยหากมีข้อบกพร่องในการจัดงาน
ฑ. การกล่าวคำไว้อาลัย
1. กล่าวคำทักทาย
2. กล่าวถึงชีวประวัติของผู้เสียชีวิตพอสังเขป
3. อาจกล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้ต้องเสียชีวิต กรณีนี้ให้พิจารณาความเหมาะสม หากจะทำ
ให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดี อาจไม่กล่าวถึงก็ได้
4. กล่าวถึงความอาลัยของผู้ที่อยู่เบื้องหลัง
5. แสดงความคาดหวังว่า ผู้เสียชีวิตจะไปอยู่ในที่ที่ดีและมีความสุข
ฒ. การกล่าวคำปราศรัยทั่วไปในโอกาสต่างๆ
1. กล่าวคำทักทาย
2. กล่าวถึงความสำคัญหรือวัตถุประสงค์ที่จัดงานนั้นขึ้นมา
3. กล่าวเน้นถึงความสำคัญของโอกาสนั้น โดยกล่าวถึงคุณค่า ความดีงาม ผลงาน หรือความสำเร็จที่ผ่านมา
4. กล่าวถึงเรื่องนั้นในแง่อดีต ปัจจุบัน และความหวังในอนาคต
5. กล่าวอวยพร
ณ. การกล่าวเปิดงานวันสำคัญ
1. กล่าวคำทักทาย
2. กล่าวถึงความเป็นมาของวันนั้น
3. กล่าวถึงความสำคัญของวันนั้น
4. กล่าวอวยพรให้แก่ผู้ที่มาร่วมงาน
ด. การกล่าวเปิดสถานที่ต่างๆ
1. กล่าวคำทักทาย
2. กล่าวถึงความเป็นมาหรือประวัติของสถานที่
3. กล่าวรายงานการก่อสร้างและวิธีดำเนินการก่อสร้าง
4. กล่าวถึงประโยชน์ที่ได้รับ
5. กล่าวเชิญเปิดสถานที่
ต. การกล่าวรายงานการเปิดการอบรมสัมมนา
1. กล่าวคำทักทาย
2. กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการเปิดการอบรมสัมมนา
3. กล่าวถึงวิธีดำเนินการอบรมสัมมนา
4. กล่าวถึงประโยชน์ที่จะได้รับ
5. กล่าวเชิญเปิดการอบรมสัมมนา
ถ. การกล่าวเปิดการอบรมสัมมนา
1. กล่าวคำทักทาย
2. กล่าวแสดงความรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มาเปิดการอบรม
3. กล่าวเน้นถึงความสำคัญของการอบรมสัมมนานี้
4. กล่าวอวยพรแก่ผู้เข้ารับการอบรมสัมมนา
จริยธรรมในการพูด
ในฐานะที่เราเป็นคริสเตียน จริยธรรมในการพูดที่เราต้องรักษาไว้เสมอคือ
1. พูดความจริง คริสเตียนต้องไม่พูดมุสา รวมทั้งไม่พูดให้คนเข้าใจผิด
2. พูดให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ฟัง พูดความจริงอย่างเดียวไม่พอ แต่พูดสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟังด้วย การพูดความจริงที่มุ่งทำลาย ไม่สร้างสรรค์ และส่งผลร้ายต่อผู้ฟังเป็นสิ่งที่เราพึงหลีกเลี่ยง
3. พูดด้วยท่าทีแห่งความรัก นอกจากพูดจริงและพูดเป็นประโยชน์แล้ว ท่าทีในการพูดก็สำคัญ เราต้องพูดด้วยท่าทีแห่งความรัก ความถ่อม ไม่วางตัวเหนือผู้ฟัง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น