วันพุธที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2558

ผู้นำกับการนำกลุ่ม

ผู้นำกับการนำกลุ่ม
กลุ่มหรือกลุ่มย่อยหมายถึงการรวมตัวกันของบุคคลตั้งแต่สองบุคคลขึ้นไป ที่มีการพึ่งพาอาศัย และปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันเพื่อจุดมุ่งหมายสำหรับการกระทำหรือการปฏิบัติ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ หรือเป้าหมายร่วมกัน
กลุ่มมีความสำคัญเพราะว่า กลุ่มเป็นสังคมย่อยหรือองค์กรย่อยของสังคมใหญ่และองค์กรใหญ่ ที่สามารถทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างบุคคลกับสังคมใหญ่หรือองค์กรใหญ่ได้ กลุ่มจะทำหน้าที่สองประการ คือ ทำให้บุคคลสามารถรับรู้และมีส่วนร่วมกับสังคมใหญ่และองค์กรใหญ่ได้ง่ายขึ้น มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น
การมีส่วนร่วมกับสังคมของชาติ ก็ผ่านทางการมีส่วนร่วมในกลุ่มย่อยของสังคมชองชาติ คือครอบครัว หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด แล้วจึงเป็นประเทศ หรือเป็นกลุ่มอาชีพ เป็นต้น
การมีส่วนร่วมกับสังคมของโรงงานหรือบริษัทใหญ่ๆ ก็ผ่านทางการมีส่วนร่วมกับกลุ่มย่อยของสังคมโรงงานหรือบริษัทคือ แผนก ฝ่าย สายการผลิต สายงาน เป็นต้น 
การมีส่วนร่วมกับสังคมของโรงเรียน ก็ผ่านทางการมีส่วนร่วมกับกลุ่มย่อยของโรงเรียนคือ เป็นนักเรียนของชั้นและห้องใดห้องหนึ่ง หรือเป็นครูของแผนกวิชาใดวิชาหนึ่ง
การมีส่วนร่วมกับคริสตจักรที่มีจำนวนสมาชิกมาก ก็ผ่านทางการมีส่วนร่วมกับกลุ่มย่อยของคริสตจักร เช่น กลุ่มสามัคคีธรรม (เซลล์) กลุ่มอนุชน กลุ่มบุรุษ กลุ่มสตรี กลุ่มครูรวีฯ กลุ่มผู้นำ คณะธรรมกิจ
และในแต่ละกลุ่มหรือกลุ่มย่อยเหล่านี้ก็จำเป็นต้องมีผู้นำกลุ่มเพื่อช่วยดำเนินการให้วัตถุประสงค์ของกลุ่มสามารถสำเร็จลงได้ เช่น ทุกครอบครัวต้องมีหัวหน้าครอบครัว ทุกหมู่บ้านต้องมีผู้นำคือผู้ใหญ่บ้าน ทุกแผนกก็ต้องมีผู้นำคือ หัวหน้าแผนก ทุกคริสตจักรต้องมีผู้นำคือ ศิษยาภิบาลกลุ่มต่างๆในคริสตจักรก็ต้องมีผู้นำ เช่น ประธานธรรมกิจ ประธานอนุชน ผู้อำนวยการรวีฯ ผู้นำ กลุ่มสามัคคีธรรม (หัวหน้าเซลล์) เป็นต้น
ผู้นำของกลุ่มจำเป็นต้องมีความรู้ความสามารถในการนำกลุ่มด้วย กลุ่มนั้นจึงจะสามารถดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้
ชนิดหรือประเภทของกลุ่ม
กลุ่มแบ่งได้ใหญ่ๆ เป็นสามประเภทคือ
  1. กลุ่มหน้าที่ เป็นกลุ่มของคนที่มีหน้าที่แบบเดียวกัน มาร่วมสัมพันธ์กันและช่วยเหลือกัน เช่น นักบัญชีจะได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือจากกลุ่มนักบัญชีด้วยกัน กลุ่มหน้าที่มักเป็นการรวมกันเนื่อง จากมีหน้าที่การงานประเภทเดียวกัน ในระดับเดียวกันในองค์กรเดียวกัน มีความเป็นทางการและระบบระเบียบสูง
  2. กลุ่มงานหรือกลุ่มโครงการ เป็นกลุ่มของคนที่มาร่วมกันเพื่อทำงานพิเศษชิ้นใดชิ้นหนึ่งให้บรรลุผลภายในช่วงระยะเวลาที่กำหนดไว้ กลุ่มงานหรือกลุ่มโครงการมีความเป็นทางการ และระบบระเบียบสูงเช่นกัน เช่น คณะกรรมการ กลุ่มที่วางแผนทำโครงการ
  3. กลุ่มผลประโยชน์หรือกลุ่มมิตรภาพ เป็นกลุ่มของคนที่มาร่วมกันอย่างไม่เป็นทางการโดยมีผลประโยชน์ ความคิด ความเชื่อบางอย่างร่วมกัน รวมกันด้วยความสมัครใจ ด้วยมิตรภาพ ไม่ใช่ด้วยหน้าที่การงาน จึงมีลักษณะไม่เป็นทางการ ยืดหยุ่น เช่น กลุ่มสันทนาการ ชมรมสโมสร คริสตจักร กลุ่มสามัคคีธรรม กลุ่มอนุชน เป็นต้น
ขั้นตอนการตั้งกลุ่มและพัฒนากลุ่ม
ในการจัดตั้งและพัฒนากลุ่ม มีขั้นตอนเป็นลำดับดังนี้
1. ขั้นการมีวัตถุประสงค์ของการตั้งกลุ่ม ในการจัดตั้งกลุ่มต้องมีวัตถุประสงค์ ซึ่งวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกลุ่มมีได้หลายประการตามแต่ต้องการ ได้แก่
1) เพื่อปฏิบัติงานบางอย่าง
2) เพื่อแก้ปัญหาบางอย่าง
3) เพื่อให้มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด
4) เพื่อตอบสนองความต้องการทางสังคม คนต้องการสังคม ต้องการรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม คนจึงอยากจะเข้ากลุ่ม ยิ่งกว่านั้นการเข้ากลุ่มยังจะนำผลประโยชน์อื่นๆ ติดตามมา เช่น โอกาสในการได้รับความช่วยเหลือจากคนอื่น โอกาสที่จะได้เลื่อนระดับทางสังคม โอกาสในการได้ทำธุรกิจกับคนอื่น เป็นต้น โดยปกติแล้ววัตถุประสงค์นี้มักจะไม่มีกลุ่มใดระบุไว้ แต่เป็นวัตถุประสงค์แฝงอยู่ในใจของคนทุกคน
2. ขั้นการรวมตัวพบปะ เริ่มเมื่อบุคคลเป้าหมายของกลุ่มมารวมตัวเป็นกลุ่มครั้งแรก ไม่ว่าจะด้วยการชักชวน หรือใช้คำสั่งเพื่อให้เกิดการรวมตัวขึ้นในครั้งแรก ในขั้นนี้มีพฤติกรรมต่างๆ เช่น
1) พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในเรื่องวัตถุประสงค์ของกลุ่ม แนวทางของกลุ่ม มีการจัดโครงสร้าง กฎเกณฑ์ และเครือข่ายการติดต่อสื่อสาร
2) สร้างความเข้าใจในเรื่องความสัมพันธ์และการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างสมาชิกภายในกลุ่มให้เป็นที่เข้าใจกันกระจ่างชัดเจน
3) ทำความคุ้นเคยกับโครงสร้าง เป้าหมาย และแผนงาน
4) แสดงการยอมรับกันและกันในหมู่สมาชิกกลุ่ม
5) แสดงการคาดหวังว่ากลุ่มจะดำเนินไปด้วยดีอย่างไร
3. ขั้นการดำเนินการและแก้ปัญหาภายใน ผู้นำต้องช่วยให้กลุ่มสามารถดำเนินไปได้โดยใช้ภาวะผู้นำ การจูงใจ การบริหาร มนุษย์สัมพันธ์ การตัดสินใจ การแก้ปัญหาความขัดแย้งเพื่อขับเคลื่อนกลุ่มให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้ และมีความสัมพันธ์ที่ดีภายในกลุ่มด้วย
4. ขั้นเจริญก้าวหน้าและประสบผล ลักษณะความก้าวหน้าและประสบผลของกลุ่มคือ
1) การปฏิบัติงานของกลุ่มสามารถบรรลุผลได้อย่างน่าพอใจ
2) ความสัมพันธ์ส่วนตัวของสมาชิกในกลุ่มมีมากขึ้น ดูได้จากความสามัคคี ความรู้สึกผูกพัน เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ความเปิดเผยต่อกัน การมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็น และการร่วมมือ
5. ขั้นการประเมินผลและควบคุม มีการประเมินถึงผลสำเร็จของการปฏิบัติงาน และความสัมพันธ์ที่มีคุณค่าของสมาชิกกลุ่ม จากนั้นก็นำมาสู่การวางแผนใหม่ที่จะให้พัฒนายิ่งขึ้นกว่าเดิม

การนำกลุ่มให้มีประสิทธิภาพ
  1. ควรจัดให้สมาชิกกลุ่มมีความคล้ายคลึงกัน ไม่แตกต่างกันมากเกินไป
ควรคล้ายคลึงกันในเรื่อง ความต้องการต่างๆ แรงจูงใจ บุคลิกภาพ ความคิด ทัศนคติ ความรู้ ประสบการณ์ เพราะความคล้ายคลึงกันในสิ่งเหล่านี้จะทำให้การติดต่อสื่อสารและการร่วมมือกันง่ายขึ้น แต่ความแตกต่างอยู่บ้างก็มี จุดดีตรงที่ทำให้มีความคิดเห็นและความสามารถที่แตกต่างหลากหลาย ทำให้สร้างสรรค์ได้มากขึ้น แต่ก็มีข้อเสียในแง่ที่เอื้อต่อความขัดแย้งกัน หรือลดพลังของกลุ่มด้วย ผู้นำกลุ่มต้องเลือกว่าจะนำกลุ่มไปทางไหน ถ้าเป็นกลุ่มที่ต้องการความคิดหลากหลายก็เอาแบบมีความแตกต่างกันมากหน่อย แต่ถ้าเป็นกลุ่มที่ต้องการให้ปฏิบัติไปในทางเดียวกันและคล้อยตามกันสูง ก็ให้มีความแตกต่างกันน้อยหน่อย
  1. ควรจัดระเบียบแบบแผนของกลุ่ม 
เพื่อวางขอบเขตเกี่ยวกับพฤติกรรมของสมาชิกกลุ่ม เพื่อเป็นหลักประกันว่าวัตถุประสงค์และแนวทางของกลุ่มจะสำเร็จได้ หลักของระเบียบในกลุ่มที่ดี คือ
  1. ระเบียบนั้นเป็นที่ยอมรับได้ของสมาชิกทุกคนในกลุ่ม หรือส่วนใหญ่ของกลุ่ม และระเบียบแบบแผนนั้น หากเป็นได้สมาชิกกลุ่มทุกคนน่าจะมีส่วนร่วมในการคิดระเบียบนั้นด้วย
  2. ระเบียบนั้นต้องสามารถเป็นที่เข้าใจได้ว่าหากปฏิบัติตามแล้วจะทำให้กลุ่มเกิดผลดีบรรลุตามวัตถุประสงค์อย่างไร และหากไม่ปฏิบัติตามแล้วจะส่งผลเสียอย่างไร
  3. ระเบียบควรมีเท่าที่จำเป็นกับสถานการณ์ หรือป้องกันปัญหาเท่าที่จำเป็น อย่ามากเกินจำเป็น
  4. ระเบียบต้องมีข้อยืดหยุ่นในกรณีที่ต้องละเมิดเพราะมีเหตุผลที่ดีกว่า
  1. ควรมีการจัดสถานภาพของสมาชิกกลุ่ม
เพื่อกลไกการดำเนินกลุ่มจะไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีเอกภาพ ต้องมีการจัดสถาน ภาพว่าใครเป็นผู้นำหลัก ผู้นำรอง ใครมีหน้าที่รับผิดชอบอะไร มีอำนาจหน้าที่เพียงใด หลักของการจัดสถานภาพในกลุ่มที่ดีคือ
  1. จัดสถานภาพเท่าที่จำเป็นต่อกลุ่ม เช่น กลุ่มต้องมีผู้นำ ซึ่งอาจเรียกว่า หัวหน้ากลุ่ม ประธานกลุ่ม เป็นต้น ส่วนจะต้องมีคณะกรรมการ มีรองประธาน มีเหรัญญิก เลขาฯ หรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับความจำเป็นของกลุ่ม ซึ่งดูจากลักษณะงาน ปริมาณงาน และขนาดของกลุ่ม อย่ามีมากเกินความจำเป็น
  2. มีการกำหนดหน้าที่และสิทธิของสถานภาพต่างๆของกลุ่มให้ชัดเจน และทำความเข้าใจในหมู่สมาชิกกลุ่มให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง หรือความคาดหวังผิดๆ ตามมา
  3. สมาชิกกลุ่มที่มาทำหน้าที่ในแต่ละสถานภาพ ควรสามารถมีการเปลี่ยนแปลงแทนที่ได้ เมื่อเห็นว่าสมาชิกคนอื่นมีความเหมาะสมกว่า หรือมีการผลัดเปลี่ยนกันรับผิดชอบ
  4. ระวังอย่าให้สถานภาพที่แตกต่างกันของสมาชิกในกลุ่มทำให้เกิดปัญหาความสัมพันธ์ในหมู่สมาชิกกลุ่ม ความรู้สึกไม่เท่าเทียม แบ่งแยก
  5. หากเป็นได้ ควรให้สมาชิกกลุ่มทุกคนมีส่วนในการกำหนดสถานภาพว่าใครควรอยู่ในสถาน ภาพผู้นำ และแต่ละสถานภาพควรมีหน้าที่และสิทธิอย่างไร
  1. ควรมีผู้นำที่มีภาวะอยู่ภายในกลุ่มเพื่อทำหน้าที่นำกลุ่ม 
เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของการดำเนินกลุ่ม กลุ่มทุกกลุ่มต้องมีผู้ที่มีลักษณะผู้นำ ทำหน้าที่นำกลุ่ม ผู้นำที่ว่านี้อาจเป็นผู้นำที่มีการเลือกหรือแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ หรือเป็นผู้นำที่ไม่เป็นทางการก็ได้ ผู้นำที่ไม่เป็นทางการคือ คนที่สมาชิกในกลุ่มให้การยอมรับนับถือและพร้อมที่จะตามเขา แม้ว่าเขาไม่ได้มีตำแหน่งอะไรในกลุ่มอย่างเป็นทางการก็ตาม เป็นลักษณะผู้นำบารมี ผู้นำกลุ่มควรทำหน้าที่ต่อกลุ่มดังนี้
  1. ช่วยกลุ่มในการอำนวยการหรือสั่งการให้กลุ่มดำเนินการหรือปฏิบัติงานเพื่อให้เป้าหมายของกลุ่มบรรลุผล
  2. จัดวางรูปแบบค่านิยมต่างๆของกลุ่ม
  3. เป็นตัวแทนกลุ่มหรือกระทำการเพื่อกลุ่ม ในการติดต่อกับผู้อื่นหรือกับสมาชิกบางคนบางพวกภายในกลุ่ม
  4. อำนวยความสะดวกในเรื่องกิจกรรมต่างๆของกลุ่ม ริเริ่มการกระทำของกลุ่ม และช่วยในการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในกลุ่ม
  1. ควรสร้างบรรยากาศให้มีความสามัคคีภายในกลุ่ม
ความรัก ความใกล้ชิดสนิทสนม ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน การเห็นพ้องกันของสมาชิกภายในกลุ่มจะทำให้กลุ่มประสบความสำเร็จในการปฏิบัติหน้าที่มากขึ้น
ปัจจัยที่ทำให้เกิดความสามัคคีภายในกลุ่มเพิ่มขึ้นได้แก่

  1. สมาชิกกลุ่มมีการเห็นพ้องต้องกันในเป้าหมายของกลุ่ม ผู้นำต้องช่วยให้สมาชิกกลุ่มเห็นคุณค่าของการมารวมกลุ่มกัน ให้เขามีความเห็นพ้องกับเป้าหมายของกลุ่ม
  2. สมาชิกกลุ่มรู้สึกว่าตนเองมีส่วนร่วม ผู้นำต้องช่วยให้สมาชิกกลุ่มทุกคนรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม มีความสำคัญต่อกลุ่ม เช่น ให้ทุกคนมีโอกาสได้พูด ได้แสดงความคิดเห็น ได้มีส่วนรับผิดชอบงานบางอย่าง กล่าวขอบคุณและชมเชยเขาในสิ่งที่เขาทำเพื่อกลุ่ม
  3. สมาชิกกลุ่มมีความใกล้ชิดสนิทสนมกัน ผู้นำต้องช่วยให้สมาชิกกลุ่มมีความถี่ในการปฏิสัมพันธ์กัน ได้ใช้เวลาด้วยกันบ่อยๆ ทั้งในโอกาสปกติ และโอกาสพิเศษ ซึ่งจะทำให้เกิดบรรยากาศของความผูกพันรักใคร่กันเป็นส่วนตัวภายในกลุ่ม เช่น ให้กลุ่มมีการพบปะกันอยู่เสมอและบ่อยครั้ง สร้างบรรยากาศของกลุ่มให้มีความเป็นกันเอง สนุกสนาน มีการไปเยี่ยมบ้านของกันและกัน ไปเที่ยวด้วยกันบ้าง
  4. สมาชิกกลุ่มรู้สึกว่าต้องแข่งขันกันกับกลุ่มอื่น การรู้สึกว่าต้องแข่งขันกับกลุ่มอื่น จะทำให้สมาชิกกลุ่มรู้สึกว่าต้องร่วมมีอกันทำให้เป้าหมายบรรลุผล ผู้นำอาจชี้ให้สมาชิกกลุ่มรู้สึกว่าต้องแข่งขันกับกลุ่มอื่น
  5. สมาชิกกลุ่มไม่มีความรู้สึกแข่งขันกันเองภายในกลุ่ม แม้ว่าการแข่งขันระหว่างกลุ่มจะทำให้เกิดการร่วมมือภายในกลุ่มมากขึ้น แต่การแข่งขันภายในกลุ่มจะบั่นทอน ลดพลังของการร่วมมือกันภายในกลุ่มลง ผู้นำไม่ควรสร้างบรรยากาศของการแข่งขันกันเองภายในกลุ่ม เช่น ไม่เปรียบเทียบสมาชิกกลุ่มคนหนึ่งกับอีกคนหนึ่ง พวกหนึ่งกับอีกพวกหนึ่ง
  6. สมาชิกกลุ่มมีความรู้สึกภูมิใจในกลุ่ม ผู้นำควรชี้จุดที่ทำให้สมาชิกกลุ่มรู้สึกว่า กลุ่มที่ตนอยู่นั้นดีอย่างไร ประสบความสำเร็จอย่างไร น่าภาคภูมิใจอย่างไร เช่น อาจมีการฉลองเป็นบางครั้ง
  7. ขนาดของกลุ่มไม่ใหญ่เกินไป ขณะที่กลุ่มใหญ่ขึ้น ความสนิทสนมของสมาชิกภายในกลุ่มจะลดลง และความสนิทสนมกับกลุ่มอื่นๆก็จะลดลงด้วย มีการศึกษาพบว่ากลุ่มที่มีสมาชิกขนาด 5-6 คน สมาชิกจะมีความสนิทสนมมากที่สุด ผู้นำอาจต้องพิจารณาว่ากลุ่มที่ตนนำควรมีการจำกัดขนาดกลุ่มที่จำนวนคนเท่าใด หากใหญ่กว่านั้นก็อาจต้องมีการแยกไปตั้งกลุ่มใหม่อีกกลุ่มหนึ่ง แล้วตัวผู้นำเองอาจจะดูแลทั้งสองกลุ่มก็ได้ แต่ก็ควรจัดให้มีผู้นำใหม่ของกลุ่มนั้นเอง เมื่อมีคนที่เหมาะสม
  8. สมาชิกกลุ่มไม่รู้สึกว่าถูกครอบงำโดยสมาชิกคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง สิ่งนี้จะทำให้กลุ่มขาดความสามัคคี ขาดความร่วมมืออย่างเต็มที่ ผู้นำต้องดำเนินการไม่ให้ในกลุ่มมีสมาชิกบางคนหรือบางกลุ่มเป็นผู้ที่ผูกขาดอำนาจ เอาเปรียบสมาชิกคนอื่นในกลุ่ม หรือใช้อำนาจเหนือสมาชิกคนอื่นในกลุ่มอย่างไม่เป็นธรรม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น