วันพุธที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2558

คริสเตียนต้องเป็นผู้นำ

คริสเตียนต้องเป็นผู้นำ
การเป็นผู้นำและภาวะผู้นำ : ความหมาย
คำว่า “นำ” มีความหมายพื้นๆตามพจนานุกรมว่า ไปข้างหน้า หรือ เริ่มต้นโดยมีผู้อื่นหรือสิ่งอื่นตามหรือทำตาม ฉะนั้น “ผู้นำ” จึงหมายถึงผู้ที่ไปข้างหน้า หรือผู้ที่เริ่มต้นโดยมีผู้อื่นตามหรือสิ่งอื่นทำตาม เมื่อพิจารณาให้ลึกซึ้งขึ้นก็จะได้ความหมายที่สอดคล้องกับภาคปฏิบัติมากขึ้นว่า การนำคือ การใช้อิทธิพลต่อผู้อื่นจนทำให้คนเหล่านั้นพยายามบรรลุถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ และผู้นำก็คือผู้ที่ใช้อิทธิพลต่อผู้อื่นจนทำให้คนเหล่านั้นพยายามบรรลุถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้
คนที่มีภาวะผู้นำก็หมายถึง การที่บุคคลมี “ความสามารถที่จะมีอิทธิพลต่อผู้อื่นจนพวกเขาสมัครใจที่จะเชื่อฟังและทำตาม”
การ “ใช้อิทธิพล” หรือ “มีอิทธิพล” ที่ว่านี้ ไม่ได้หมายถึงอิทธิพลด้านตำแหน่ง อำนาจ การให้คุณให้โทษ การให้ผลประโยชน์ แต่หมายถึงการมีอิทธิพลด้านจิตใจที่ทำให้ผู้คนมีความรัก ความศรัทธา ความเชื่อถือต่อเรา จนยอมทำตามเราด้วยความสมัครใจ

ผู้นำมีหน้าที่ทำอะไร
การนำหรือการเป็นผู้นำประกอบด้วยหน้าที่มากมาย แต่แบ่งเป็นหน้าที่หลักๆได้ 4 ประการด้วยกัน ประการแรก คือ คิด ผู้นำต้องเป็นสมองของกลุ่มคนที่ตนนำอยู่ ผู้นำต้องคิดเป้าหมาย คิดวิธีการ คิดวางแผน คิดตัดสินใจ คิดแก้ปัญหา
ประการที่สองคือ สื่อสาร ผู้นำต้องสื่อสารกับกลุ่มที่ตนนำเพื่อบอกเป้าหมายทิศทาง สื่อสารเพื่อบริหาร มอบหมาย ควบคุม แก้ปัญหา สร้างความเข้าใจ สอน สื่อสารเพื่อชมเชย ตำหนิ รวมทั้งสื่อสารเพื่อจูงใจ สร้างความร่วมมือร่วมใจ สร้างขวัญและกำลังใจ
ประการที่สามคือ ตัดสินใจ ผู้นำคือผู้ที่ต้องตัดสินใจในเรื่องต่างๆของกลุ่มอยู่เสมอ โดยเฉพาะการตัดสินใจขั้นสุดท้ายและการตัดสินใจเรื่องยากๆเสมอ
และประการสุดท้ายคือ สร้างการเปลี่ยนแปลง การมีภาวะผู้นำที่แท้จริง หรือสุดยอดของภาวะผู้นำคือ เขาต้องสามารถทำให้กลุ่มเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ได้

ภาวะผู้นำสำคัญไฉน
พระคัมภีร์ช่วยให้เราเห็นความสำคัญของผู้นำหลายประการด้วยกัน
ทุกสังคมจำเป็นต้องมีผู้นำ
พระคัมภีร์กล่าวถึงความจำเป็นที่สังคมต้องมีการนำ และต้องเป็นการนำที่ดีด้วย พระคัมภีร์กล่าวว่า -ที่ไหนที่ไม่มีการนำ ประชาชนก็ล้มลง” (สุภาษิต 11:14) “จงทำสงครามด้วยมีการนำที่ฉลาด” (สุภาษิต 20:18) “เพราะว่าโดยการนำที่ฉลาด เจ้าก็เข้าสงครามได้” (สุภาษิต 24:6) นอกจากนี้ พระคัมภีร์ยังยอมรับบทบาทของผู้นำทางสังคม ผู้มีอำนาจปกครอง เจ้าหน้าที่บ้านเมืองโดยยอมรับว่าเขาเหล่านั้นได้รับอำนาจในการปกครองจากพระเจ้าที่ประชาชนควรให้เกียรติและเชื่อฟัง (รม.13:1-7)
ที่ใดก็ตามที่มีกลุ่มคนอยู่ร่วมกัน หากที่นั่นปราศจากผู้นำและการนำ ที่นั่นก็จะไร้ทิศทาง และ
ไร้ระเบียบ คนกลุ่มนั้นจะพบกับความวุ่นวาย ไร้ประสิทธิภาพ ขาดพลัง และไม่ประสบความสำเร็จใน
เรื่องใดๆ
ผู้นำเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชุมชนคริสเตียน
ตลอดประวัติศาสตร์ของชนชาติอิสราเอลในพระคัมภีร์เดิม พบว่าในทุกยุคทุกสมัย พระเจ้าทรงใช้คนบางคนให้ทำหน้าที่นำประชากรของพระองค์ เช่น อับราฮัม อิสอัค ยาโคบ โยเซฟ โมเสส โยชูวา ผู้วินิจฉัยต่างๆ ซาอูล ดาวิด ซาโลมอน ฯลฯ
ในยุคของผู้วินิจฉัย พระคัมภีร์กล่าวว่า “ในสมัยนั้นไม่มีกษัตริย์ในอิสราเอล ต่างก็กระทำตามที่ตนเองเห็นชอบ” (วนฉ.21:25) ยุคนั้นเป็นยุคที่ชนชาติอิสราเอลมีแผ่นดินเป็นของตนเองแล้ว พวกเขาก็ต่างคนต่างอยู่ และไม่มีใครเป็นผู้นำ ผลก็คือประชาชนแต่ละเผ่าต่างก็ทำตามใจตนเอง ไร้ทิศทางไร้ระเบียบ ขาดพลัง สังคมก็ศีลธรรมเสื่อม มีความวุ่นวาย เมื่อศัตรูมารุกรานก็พ่ายแพ้โดยง่าย
เมื่อพระเยซูเสด็จมาพระองค์ทรงเป็นผู้นำของเหล่าสาวก ในยุคคริสตจักรก็มีผู้นำคริสตจักรหลายคน เช่น เปโตร ยอห์น ยากอบ เปาโล บารนาบัส ฯลฯ
ยิ่งกว่านั้นคริสตจักรยุคแรกยังมีนโยบายที่ต้องตั้งผู้นำไว้สำหรับคริสตจักรท้องถิ่นทุกแห่ง เปาโลตั้งผู้ปกครองดูแลและมัคนายกไว้ในทุกคริสตจักรเพื่อให้ทำหน้าที่นำคริสตจักร (กจ.14:23) ท่านสอนทิตัสและ ทิโมธีให้ตั้งผู้ปกครองดูแลไว้ในทุกคริสตจักร (ทต.1:5) ทั้งยังได้กำหนดคุณลักษณะของผู้ปกครองดูแลและมัคนายกที่จะทำหน้าที่นำคริสตจักรท้องถิ่นแต่ละแห่งด้วย (1 ทธ.3:1-13;ทต.1:5-11)

งานที่เกี่ยวข้องกับคนมากขึ้น ยิ่งต้องมีผู้นำจำนวนมากขึ้น
เมื่อโมเสสต้องนำชนชาติอิสราเอลออกจากประเทศอียิปต์ การที่ผู้นำเพียงคนเดียวต้องดูแลแก้ปัญหาของผู้คนนับล้าน ย่อมเป็นเรื่องที่เหน็ดเหนื่อยและขาดประสิทธิภาพเป็นอย่างยิ่ง จึงมีคำแนะนำว่าต้องมีการตั้งคนที่เหมาะสมให้เป็นผู้นำเพิ่มขึ้น และมอบหมายหน้าที่ให้ดูแลกลุ่มคนจำนวนระดับต่างๆ พระคัมภีร์กล่าวว่า “ท่านจงเลือกคนที่สามารถจากพวกประชาชนคือ แต่งตั้งคนอย่างนี้ไว้เป็นผู้ปกครองคน พันคนบ้าง ร้อยคนบ้าง ห้าสิบคนบ้าง สิบคนบ้าง ให้เขาพิพากษาความของประชาชนอยู่เสมอ ส่วนคดีใหญ่ๆก็ให้เขานำมาแจ้งต่อท่าน แต่คดีเล็กๆน้อยๆให้เขาตัดสินเอง การงานของท่านจะเบาลง และพวกเขาจะแบกภาระร่วมกับท่าน ถ้าทำดังนี้และพระเจ้าทรงบัญชาแล้ว ท่านก็จะสามารถทนได้ ประชาชนทั้งปวงนี้ก็จะไปยังที่อาศัยของเขาด้วยความสงบสุข” (อพย.18:21-23)
ในยุคคริสตจักร คริสตจักรในกรุงเยรูซาเล็มมีปัญหาเรื่องสมาชิกที่เพิ่มขึ้นมาก จนกระทั่งอัครทูตสิบสองคนไม่สามารถดูแลผู้เชื่อได้อย่างทั่วถึง จึงเกิดการบ่นติเตียนในหมู่สมาชิก พวกเขาจึงแก้ปัญหาโดยการตั้งผู้นำอีกเจ็ดคนขึ้นมาทำหน้าที่ช่วยเหลือดูแล (กจ.6:1-4)
ทั่วพระคัมภีร์เราได้เห็นแบบอย่างของการสร้างผู้นำหรือเตรียมผู้นำเพื่อให้ช่วยแบ่งเบางานเพื่อขยายงาน หรือเพื่อสืบทอดงานต่อไป ตัวอย่างเช่น โมเสสสร้างโยชูวาและคาเลบ พระเยซูทรงสร้างอัครสาวกสิบสองคน เปาโลสร้างลูกา ทิโมธี ทิตัส และสิลาส บารนาบัสสร้างมาระโกเป็นต้น
จากทั้งหมดที่กล่าวมา เรากล่าวได้ว่าผู้นำเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกสังคม ทุกชุมชน ทั้งชุมชนคริสเตียนและสังคมทั่วไป ทุกสังคมต้องมีผู้นำ หากเราต้องการให้พระเจ้าใช้เราได้มาก เราต้องพัฒนาตนเองให้มีความเป็นผู้นำ
และไม่เพียงแต่ต้องมีผู้นำเท่านั้น แต่ต้องมีการสร้างผู้นำให้มีจำนวนมากพอกับงานด้วย งานจึงจะมีประสิทธิภาพและเกิดผลกว้างไกลออกไป
เราอาจทำงานสำเร็จได้แม้ไม่มีภาวะผู้นำ แต่...
การมีภาวะผู้นำจะทำให้เราทำงานได้ใหญ่ขึ้น
การมีภาวะผู้นำจะทำให้เราทำงานง่ายขึ้น
การมีภาวะผู้นำจะทำให้เราทำงานเบาขึ้น
การมีภาวะผู้นำจะทำให้เราทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น
การมีภาวะผู้นำจะทำให้เราประสบความสำเร็จง่ายขึ้น
การมีภาวะผู้นำจะทำให้ความสำเร็จนั้นคงอยู่ยาวนานขึ้น
การมีภาวะผู้นำจะทำให้เราช่วยคนอื่นได้มากขึ้น
การมีภาวะผู้นำทำให้พระเจ้าใช้เราได้เกิดผลมากขึ้น
คริสตจักรกับภาวะผู้นำ
คริสตจักรก็เป็นกลุ่มคนที่ต้องมีผู้นำเช่นกันและต้องการผู้นำที่มีภาวะผู้นำสูงเป็นพิเศษด้วย เพราะคริสตจักรเป็นกลุ่มคนที่มีลักษณะพิเศษบางประการที่ทำให้นำยากกว่าการนำองค์กรทั่วไปทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจ เนื่องจากองค์กรทั่วไปเป็นองค์กรว่าจ้าง แต่คริสตจักรเป็นองค์กรอาสาสมัคร ผู้นำขององค์กรทั่วไปใช้การว่าจ้างให้คนมาทำงานให้ คนในองค์กรนั้นจึงเชื่อฟังง่ายขึ้นเพราะรับค่าจ้างจากผู้นำ ในขณะที่คริสตจักรเป็นกลุ่มคนที่มารวมตัวกันด้วยความสมัครใจ คนที่มาไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆเลย อีกทั้งยังต้องมาอุทิศตัว และถวายทรัพย์ให้งานของคริสตจักรอีกด้วย นอกจากนี้ผู้นำองค์กรทั่วไปยังสามารถดึงดูดคนให้เข้ามาได้ไม่ยากนักเนื่องจาก ใช้เงิน เกียรติ อำนาจ หรือความสนุกสนาน ฯลฯ เป็นสิ่งจูงใจซึ่งคนทั่วไปชอบได้ง่ายอยู่แล้ว แต่คริสตจักรจะดึงดูดคนยากกว่ามากเนื่องจากคริสตจักรใช้เรื่องฝ่ายจิตวิญญาณ และความเชื่อศรัทธาเป็นสิ่งจูงใจ เช่น สวรรค์ ชีวิตใหม่ ความบริสุทธิ์ ความดี ความรัก ซึ่งสิ่งเหล่านี้คนทั่วไปมักมองข้ามความสำคัญ
และอีกประการหนึ่ง องค์กรทั่วไปมีอำนาจบังคับได้รุนแรง แต่คริสตจักรไม่มีอำนาจบังคับรุนแรง ผู้นำองค์กรทั่วไปมักมีอำนาจทางกฎหมายหรือกฎระเบียบที่มีอำนาจบังคับได้อย่างเด็ดขาดซึ่งสามารถก่อผลเสียหายให้แก่คนที่ฝ่าฝืนได้อย่างรุนแรง เช่น ในทางสังคมคนทำผิดกฎหมายก็ถูกปรับ จำคุก ยึดทรัพย์หรือประหารชีวิต หรือกรณีองค์กรธุรกิจหรือราชการ คนที่ไม่เชื่อฟังก็ถูกตัดเงินเดือน ถูกย้าย ลดตำแหน่ง พักงาน หรือไล่ออก ในขณะที่คริสตจักรไม่มีอำนาจให้ผลร้ายเช่นนั้น สิ่งรุนแรงที่สุดที่คริสตจักรทำได้ต่อผู้ที่ฝ่าฝืนระเบียบก็คือ ตัดจากการเป็นสมาชิกซึ่งคนจำนวนมากอาจไม่รู้สึกว่าตนเองเสียหายอะไรมากนัก นอกจากอาจเสียชื่อ หรือเสียความรู้สึกบ้าง
ยิ่งกว่านั้น ยังไม่นับการที่องค์กรทั่วไป คนในองค์กรไม่ต้องถูกกดดันจากครอบครัวและสังคม แต่สมาชิกคริสตจักรต้องเผชิญกับแรงกดดันในครอบครัวและสังคมในการมารับเชื่อในพระเยซูคริสต์และการมาคริสตจักร
เหตุผลเหล่านี้ยืนยันว่า คริสตจักรเป็นองค์กรที่นำยากกว่าองค์กรทั่วไปทั้งในภาครัฐ และภาคธุรกิจ ฉะนั้นคริสตจักรจึงจำเป็นต้องมีผู้นำที่มีภาวะผู้นำมากกว่าองค์กรทั่วไปเสียด้วยซ้ำ
ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่คริสตจักรต้องมีการสร้างคริสเตียนให้มีภาวะผู้นำมากๆ และต้องพัฒนาผู้นำคริสตจักรให้มีภาวะผู้นำมากๆ เพื่อคริสตจักรของพระเจ้าจะเกิดผลได้ดี
จอร์จ บาร์นา (George Bama) นักวิจัยคริสเตียนที่มีชื่อเสียงกล่าวว่า ปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ทำให้คริสตจักรเกิดผลคือ ผู้นำซึ่งก็คือศิษยาภิบาล เขากล่าวว่าศิษยาภิบาลจะต้องมีภาวะผู้นำที่ดี และระบบของคริสตจักรต้องเอื้อให้ผู้นำที่ดีทำหน้าที่นำ และยังบอกถึงสาเหตุที่คริสตจักรจำนวนมากไม่เกิดผลเท่าที่ควรว่า “ศิษยาภิบาลส่วนใหญ่ที่ผมพบล้วนแต่เป็นคนดี เป็นคนชอบธรรมน่านับถือ แต่ปัญหาก็คือ พวกเขามักไม่ใช่ผู้นำ” เขายืนยันว่า “งานคริสตจักรที่สำคัญที่สุดคือการนำ” และกล่าวต่อว่า “...แต่สิ่งที่บรรดาศิษยาภิบาล มักทำมากที่สุดคือ เทศนา แทนที่จะทำหน้าที่นำ” แม้การเทศนาเป็นสิงที่ดี เป็นสิ่งจำเป็น แต่การเทศนาไม่ใช่การนำ แม้ว่าอาจใช้เป็นส่วนหนึ่งของการนำได้ การนำคริสตจักรนั้นยากกว่าการเทศน์มาก ศิษยาภิบาลอาจไมใช่นักเทศน์ที่เก่ง ซึ่งก็สามารถให้คนอื่นเทศนาแทนบ้างได้ แต่สิ่งที่ทดแทนไม่ได้คือ ตัวเขาต้องเป็นผู้นำที่ดี เขาต้องทำหน้าที่คิด สื่อสาร ตัดสินใจ และสร้างความเปลี่ยนแปลง ไปสู่เป้าหมายให้เกิดขึ้นแก่คริสตจักรได้
บางคนอาจไม่ยอมรับเรื่องนี้โดยแย้งว่า ภาวะผู้นำไม่สำคัญเท่ากับยุทธศาสตร์ และทีมงานคริสตจักร แม้ไม่มีผู้นำที่ดี แต่ถ้ามียุทธศาสตร์ดี วิธีการดี ระบบดี และทีมสมาชิกดี คริสตจักรก็สามารถประสบความสำเร็จได้ ในข้อนี้อย่าลืมว่าผู้นำคือ ผู้ที่ตัดสินใจสุดท้ายของคริสตจักรผู้ชี้นำคริสตจักร แม้คริสตจักรจะมียุทธศาสตร์ที่ดี ระบบที่ดี และทีมสมาชิกที่ดี แต่ถ้าขาดผู้นำที่ดีการทำตามยุทธศาสตร์ที่ดีก็จะขาดประสิทธิภาพ ระบบที่ดีจะสะดุด และสมาชิกที่ดีจะขาดขวัญและกำลังใจ หมดไฟที่จะร่วมรับใช้ ถึงตอนนั้นยุทธศาสตร์และระบบทุกอย่างจะเป็นง่อยทันที ด้วยเหตุนี้แม้ว่าระบบที่ดีจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่พระเจ้าก็ทรงเน้นคุณภาพคนมากกว่าระบบ
คริสตจักรเกิดได้โดยผู้นำ คงอยู่ได้โดยผู้นำ และขยายได้ก็โดยผู้นำ
และโดยการนำที่ดี คริสตจักรจะเกิดขึ้น คงอยู่

และขยายตัวอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง

ภาวะผู้นำ

ระดับและคุณสมบัติของภาวะผู้นำ
ระดับของภาวะผู้นำ
แต่ละคนมีระดับภาวะผู้นำไม่เท่ากัน ภาวะผู้นำมีได้หลายระดับ แบ่งได้ดังนี้
  1. แบ่งตามระดับของปัจจัยเอื้อต่อการเป็นผู้นำ คนที่มีภาวะผู้นำน้อยต้องมีตำแหน่งหรืออำนาจก่อนจึงจะนำได้ หรือต้องมีตำแหน่งและอำนาจก่อนคนถึงจะทำตาม ซึ่งผู้คนก็ทำตามเพราะถูกบังคับหรือยอมจำนนต่อตำแหน่ง อำนาจ แต่ผู้ที่มีภาวะผู้นำมากจะสามารถนำคนได้แม้ไม่มีตำแหน่ง ผู้คนรู้สึกเต็มใจที่จะทำตามเขา แม้ว่าเขาไม่ได้มีอำนาจอะไร และยิ่งหากเขามีตำแหน่งด้วยคนก็ยิ่งเต็มใจทำตามมากขึ้นไปอีก หรือในตอนแรกแม้เขาไม่มีตำแหน่ง แต่เมื่อคนติดตามเขาแล้วตำแหน่งก็มักจะตามมาเองภายหลัง
     2. แบ่งตามระดับความยากง่ายของภารกิจ ภารกิจแต่ละอย่างมีความยากง่ายไม่เท่ากัน การนำคนไปรบย่อมยากกว่าการนำคนไปเที่ยว คนที่มีภาวะผู้นำน้อยอาจสามารถนำผู้คนไปทำสิงที่ง่ายๆ หรือสิ่งที่พวกเขาชอบอยู่แล้ว เช่น ชวนไปทำสิ่งที่สนุกสนาน ชวนไปทานอาหารอร่อยๆ ชวนไปทำสิงที่ได้เงิน หรือผลประโยชน์ แต่คนที่มีภาวะผู้นำมากจะสามารถนำในระดับที่ยากขึ้นคือ สามารถนำผู้คนไปทำสิ่งที่พวกเขาไม่ชอบได้ด้วยความสมัครใจ เช่น ชวนคนไปทำสิ่งที่ต้องเสียสละ อุทิศตัว ชวนคนไปต่อสู้กับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ชวนคนไปสละชีวิต
   
    3. แบ่งตามระดับศักยภาพของผู้ตาม คนที่มีภาวะผู้นำน้อยอาจสามารถนำผู้คนที่ช่วยตัวเองไม่ค่อยได้ 
ต้องพึ่งพิงคนอื่นตลอดเวลา ขาดศักยภาพ แต่คนที่มีภาวะผู้นำมากจะสามารถนำคนที่มีศักยภาพสูง และคนที่มีภาวะผู้นำเช่นกัน (เพียงแต่อาจมีน้อยกว่าเราหรือเท่าๆกับเรา) ผู้เชี่ยวชาญในด้านความเป็นผู้นำกล่าวว่าคนเรามักจะเลือกติดตามคนที่มีภาวะผู้นำมากกว่าตนเอง

     4. แบ่งตามระดับศักยภาพการพัฒนาตัว คนที่มีภาวะผู้นำน้อยอาจทำงานที่ได้รับมอบหมายสำเร็จ
ระดับหนึ่ง แล้วก็จะหยุดการพัฒนา ไม่สามารถสร้างผู้อื่นๆให้ขึ้นมาเป็นผู้นำแทนตัวเอง เพื่อตนเองจะขึ้นไปนำในระดับที่ยากขึ้น ส่วนผู้ที่มีภาวะผู้นำสูงจะสามารถพัฒนาตัวเติบโตขึ้นได้อย่างต่อเนื่องไม่จำกัด สามารถสร้างคนอื่นๆให้ขึ้นมาเป็นผู้นำได้ และตนเองก็ก้าวขึ้นไปนำในระดับที่ยากขึ้นเรื่อยๆ
หากเราดูชีวิตขององค์พระเยซูคริสต์ พระองค์ทรงบังเกิดอย่างตํ่าต้อยในรางหญ้า เติบโตในครอบ ครัวช่างไม้สามัญชน เป็นคนบ้านนอก แต่กลับมีผู้คนจำนวนมากติดตามพระองค์จนถึงขั้นยอมตายเพื่อพระองค์ และพระองค์ก็ทรงสร้างบรรดาอัครสาวกให้สามารถเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพต่อไปได้แม้พระองค์จะเสด็จขึ้นสู่สวรรค์แล้ว และเหล่าอัครสาวกเหล่านี้ก็ยังได้รับอิทธิพลที่จะสร้างสาวกผู้นำต่อมาอีกเป็นทอดๆ เป็นจำนวนมาก จนข่าวประเสริฐสามารถสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันได้มากกว่าสองพันปีแล้ว เห็นได้ชัดว่าพระองค์ทรงเป็นต้นแบบของการมีภาวะผู้นำอย่างดีเยี่ยมทีเดียว

คุณสมบัติของผู้ที่มีภาวะผู้นำ 
ดังที่เราทราบแล้วว่า ภาวะผู้นำหมายถึงการที่บุคคลคนหนึ่งสามารถมีอิทธิพลต่อผู้อื่นจนพวกเขาสมัครใจที่จะเชื่อฟังและทำตาม คนที่มีภาวะผู้นำเช่นนี้มักมีคุณสมบัติอะไรบางอย่างที่ทำให้ผู้คนคล้อยตามได้ง่ายหรืออยากติดตามเขา ปัจจุบันมีการศึกษากันมากว่าคุณสมบัติอะไรบ้างที่สร้างภาวะผู้นำในตัวบุคคลขึ้นมา? การตอบคำถามนี้อาจทำได้โดยถามว่า ผู้คนทั่วไปมักชอบติดตามคนแบบไหน? คนที่มีคุณสมบัติอะไรที่ดึงดูดให้ผู้คนอยากคล้อยตามหรือติดตาม? ผู้ที่ศึกษาวิจัยด้านความเป็นผู้นำจำนวนมากพบความจริงคล้ายคลึงกันว่า คนที่มีภาวะผู้นำมักมีคุณสมบัติต่อไปนี้

      1. มีความรู้ความสามารถ ผู้คนมักอยากติดตามคนที่มีความรู้ความสามารถมากกว่าตน อย่างน้อยก็เป็น
ความรู้ความสามารถเฉพาะด้านที่พวกเขาต้องพึ่งพา ความรู้ความสามารถที่ว่านี้อาจรวมไปถึงความรู้ความสามารถที่แปรรูปเป็นทรัพยากรอย่างอื่นด้วยก็ได้ เช่น ประสบการณ์ความสำเร็จ ฐานะทางการเงิน ตำแหน่ง เกียรติยศชื่อเสียง สายสัมพันธ์ หรืออำนาจอิทธิพล การที่พระเยซูทรงมีความพิเศษแตกต่างจากผู้อื่นในคำสอนและฤทธิ์อำนาจเหนือกว่าผู้นำทางศาสนาและผู้นำทางการเมืองในยุคนั้น ทำให้ผู้คนติดตามพระองค์ ความรู้ความสามารถมักเป็นใบเบิกทางขั้นต้นที่ช่วยให้บุคคลมีภาวะผู้นำง่ายขึ้น และเร็วขึ้น แต่ก็ยังไม่ใช่ทั้งหมด หากขาดสิ่งอื่นๆที่จะตามมาต่อไปนี้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่ก็จะไม่สามารถทำให้ผู้อื่นติดตามเราจนตลอดรอดฝั่ง
   
     2. ซื่อตรงและมีคุณธรรม ผู้คนมักอยากติดตามคนที่พวกเขารู้สึกว่าเป็นคนดีมีคุณธรรม อย่างน้อยก็
ต้องเป็นคนที่พวกเขาเชื่อถือได้ ไว้วางใจได้ คุณสมบัตินี้มักไม่ได้เกิดขึ้นโดยทันที แต่ต้องใช้เวลาพิสูจน์ชีวิตกันพอสมควร จนถึงระยะเวลาหนึ่งผู้คนก็จะเกิดความศรัทธาและไว้วางใจ สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผู้คนติดตามพระเยซูก็เพราะพระองค์ทรงพิสูจน์ตัวเองให้ผู้คนได้เห็นได้สัมผัสอย่างต่อเนื่องว่า พระองค์ทรงเปี่ยมด้วยความดี ทรงตรัสแต่ความจริง ไม่มีความเท็จในพระองค์เลย ด้วยเหตุนี้ผู้คนจึงศรัทธาในพระองค์และติดตามเป็นสาวกของพระองค์

     3. มีบุคลิกกาพที่ดี ผู้คนมักอยากติดตามคนที่มีบุคลิกภาพแบบผู้นำ เช่น มีความมั่นใจ มีอารมณ์มั่นคง 
ดูเข้มแข็ง สง่า สุขุมเยือกเย็น ในพระคัมภีร์เราเห็นภาพของพระเยซูว่าทรงมีความมั่นคงในอารมณ์ ทรงทราบและเชื่อมั่นในจุดยืนของพระองค์อย่างชัดเจน ทรงสุขุม สงบเยือกเย็น เข้มแข็งไม่หวั่นไหวแม้ต้องถูกต่อต้าน โต้แย้งและกล่าวหา พระองค์จึงทรงมีบุคลิกของผู้นำอย่างเต็มเปี่ยม
   
     4. มีมนุษยสัมพันธ์ ผู้คนมักอยากติดตามคนที่มีมนุษย์สัมพันธ์ดี หรือเป็นคนที่พวกเขาสามารถรู้จัก
และสนิทสนมได้ง่าย เป็นคนที่พวกเขารู้สึกสบายใจที่จะผูกพันชีวิตและร่วมงานด้วยและพื้นฐานของการมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีก็คือ การเข้าใจคนเข้าใจว่าคนเราชอบอะไรไม่ชอบอะไร รวมทั้งสามารถตอบสนองสิ่งที่คนอื่นชอบและไม่ทำสิ่งที่คนไม่ชอบ ในชีวิตของพระเยซูเราพบว่าพระองค์ทรงใช้เวลาอยู่กับเหล่าอัครสาวกและประชาชนทุกระดับอย่างเป็นกันเอง ทรงใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายไม่ถือพระองค์ ด้วยเหตุนี้ผู้คนจึงพึงพอใจที่จะติดตามพระองค์
 
     5. เป็นแบบอย่าง ผู้คนมักอยากติดตามคนที่สามารถเป็นแบบอย่างให้พวกเขาได้ เป็นคนที่พวกเขา
อยากจะเลียนแบบและเป็นเหมือน ไม่ใช่คนที่เพียงแต่พูด หรือออกคำสั่ง แต่ไม่เคยทำก่อนหรือไม่เคยทำให้เห็นเป็นแบบอย่าง เราเห็นความเป็นแบบอย่างในชีวิตของพระเยซูอย่างชัดเจนทรงสอนในสิ่งที่พระองค์ทรงกระทำ ไม่มีอะไรที่พระองค์ใช้สาวกกระทำโดยที่พระองค์ไม่เคยทำก่อน

      6. เสียสละ ผู้คนมักอยากติดตามคนที่พวกเขารู้สึกว่าบุคคลนั้นรักพวกเขา ยอมเสียสละเพื่อพวกเขา 
และนำเพื่อประโยชน์ของพวกเขาเป็นหลัก ไม่ใช่เพื่อตัวเองเป็นหลัก พระเยซูทรงเป็นสุดยอดผู้นำที่เสียสละเพื่อผู้ตาม ทรงสละแม้ชีวิตของพระองค์เองเพื่อสาวกทุกคน ทรงยอมสละความสุขส่วนตัวเพื่อสาวกและผู้คนที่ติดตามพระองค์เสมอ ผู้คนจึงติดตามพระองค์จนถึงขั้นที่ยอมตายเพื่อพระองค์เช่นกัน

      7. มีวิสัยทัศน์และเป้าหมาย วิสัยทัศน์หมายถึงการมองเห็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นหรืออยากให้เกิดขึ้นใน
อนาคต เป้าหมายคือการกำหนดจุดที่คาดหวังจะไปให้ถึงตามวิสัยทัศน์ที่เห็น ผู้คนมักอยากติดตามคนที่มีวิสัยทัศน์และเป้าหมาย คนที่รู้ว่ามีชีวิตอยู่เพื่อจะทำอะไร มีเป้าหมายอะไร พวกเขาจะได้ติดตามไปอย่างมั่นใจ พระเยซูทรงชี้ให้บรรดาสาวกมองถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเสมอ โดยทรงสอนถึงแผ่นดินสวรรค์ การดำเนินชีวิตที่พระเจ้าพอพระทัย ชีวิตหลังความตาย การเสด็จกลับมา อีกทั้งทรงบอกถึงเป้าหมายและวิธีการในการบรรลุเป้าหมายอยู่เสมอเช่นกัน โดยบอกถึงการประกาศ และสร้างสาวก การอดทนต่อความทุกข์ ด้วยวิสัยทัศน์และเป้าหมายที่ชัดเจนผู้คนจึงติดตามพระองค์

     8. มีความริเริ่ม ความริเริ่มคือการทำก่อนหรือทำเองโดยไม่จำเป็นต้องรอคนอื่นมาร่วมด้วยก่อนแล้วจึงค่อยทำ ผู้คนมักอยากติดตามคนที่ริเริ่มทำสิ่งที่ตนเชื่อก่อน แล้วเมื่อพวกเขาเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีก็จะเริ่มหันมาทำตามด้วยภายหลัง เราเห็นจากชีวิตของพระเยซูว่าพระองค์ทรงสอนและทำสิ่งที่แตกต่างและเป็นสิ่งที่ท้าทายสังคมในเวลานั้นเป็นอย่างมาก พระองค์เริ่มพันธกิจโดยพระองค์เองตามลำพัง แต่เมื่อพระองค์ทำอย่างแน่วแน่ผู้คนก็เริ่มเห็นสิ่งดีและหันมาติดตามพระองค์อย่างมากมาย

     9. เข้มแข็ง กล้าหาญ และอดทน ผู้คนมักอยากติดตามคนที่เข้มแข็ง กล้าหาญที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้อง 
และมีความบากบั่นมุ่งมั่นจนกระทั่งประสบความสำเร็จ ไม่เลิกล้มกลางคัน พระเยซูทรงทำพันธกิจท่ามกลางการถูกต่อต้านและประสงค์ร้ายตั้งแต่ต้นจนจบ แม้แต่อัครสาวกของพระองค์เองก็ยังเคยหวาดกลัวและท้อถอยจนทิ้งพระองค์ไป แต่พระองค์ไม่เคยยอมแพ้ แม้บางครั้งจะท้อพระทัยบ้างแต่ก็ทรงยืนหยัดจนวาระสุดท้าย ทรงเผชิญหน้าความตายอย่างกล้าหาญและเข้มแข็งจนทรงสามารถตรัสว่า “สำเร็จแล้ว” บนกางเขนแล้วก็สิ้นพระชนม์

ทักษะของผู้นำ
นอกจากคุณสมบัติของผู้นำที่กล่าวมาข้างต้น เรายังพบอีกว่าผู้ที่มีภาวะผู้นำสูงมักมีทักษะในการนำหรือความสามารถในการนำเหล่านี้อีกด้วย
   
   1. จูงใจผู้อื่นได้ดี ผู้นำจำเป็นต้องมีการจูงใจผู้อื่น การจูงใจเป็นความสามารถในการโน้มน้าวผู้อื่นให้
ทำตามด้วยความเต็มใจ แม้จะเป็นสิ่งที่ยากลำบาก ผู้นำที่ดีมักมีทักษะความสามารถในการจูงใจผู้อื่น  

     2. บริหารจัดการได้ เป็นความสามารถในการวางแผนงาน จัดระบบงาน จัดคนเข้าทำงาน ควบคุมการทำงาน ประเมินผลและปรับปรุงงาน จนกระทั่งบรรลุเป้าหมาย ผู้นำที่มีประสิทธิภาพมักมีทักษะของนักบริหารจัดการด้วย

    3. สามารถจัดลำดับความสำคัญ ชีวิตมักมีสิ่งที่ต้องทำมากมาย แต่ผู้นำที่ดีจะสามารถจัดสรรได้ว่าอะไรสำคัญก่อนหลัง เพื่อเป้าหมายจะสำเร็จและการทำงานจะมีประสิทธิภาพ

    4. ตัดสินใจและแก้ปัญหาได้ดี  ในการนำมักจะต้องตัดสินใจและต้องแก้ปัญหาอยู่เสมอ บางเรื่องง่าย
แต่บางเรื่องก็ยาก ผู้นำที่เก่งจะสามารถตัดสินใจได้ดี สามารถเผชิญปัญหาด้วยท่าทีที่ดีและสามารถแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
  5. มีความคิดสร้างสรรค์ ผู้นำจะต้องคิดได้กว้างไกลและลึกซึ้งกว่าคนอื่น ฉะนั้นผู้นำจึงควรสามารถคิด
อย่างสร้างสรรค์

  6. สอนคนอื่นเป็น สร้างผู้นำและทีมงานได้ ผู้นำจะสามารถทำงานใหญ่ได้ก็ต่อเมื่อสามารถสอนและ
สร้างผู้อื่นให้พัฒนาเติบโตขึ้นเป็นทีมงาน และเป็นผู้นำแทนตนเองต่อไปได้ เพื่อตนเองจะได้สามารถก้าวขึ้นไปทำงานที่สูงขึ้นและยากขึ้น ผู้นำที่เก่งมักมีทักษะความสามารถในการสอน การสร้างและการพัฒนาผู้อื่นให้เป็นผู้นำต่อไป รวมทั้งสามารถสร้างทีมงานและทำงานเป็นทีมได้ดี

   7. สามารถสื่อสารและพูดต่อหน้าชุมชนได้ดี ผู้นำจำเป็นต้องมีการสื่อสารและการพูดกับกลุ่มคนอยู่
เสมอ คนที่มีภาวะผู้นำสูงมักสามารถสื่อสารกับกลุ่มคนที่เรานำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการสื่อสารกับกลุ่มคนมาก ๆ ผู้นำที่เก่งมักเป็นคนที่พูดกับกลุ่มคนได้ดี 
ยังมีทักษะอื่น ๆ อีกที่คนมีภาวะผู้นำสูงมักจะมี ซึ่งเราพบได้จากผู้นำที่มีความสามารถเป็นจำนวนมาก เช่น การนำกลุ่ม การนำประชุม การบริหารเวลา การบริหารเงิน การใช้อำนาจการมีชีวิตที่สมดุล การจัดการความเครียด และอื่นๆคนที่ต้องการพัฒนาภาวะผู้นำควรเรียนรู้และพัฒนาในคุณสมบัติและทักษะเหล่านี้เพื่อเสริมสร้างภาวะผู้นำของตนเองให้ดีขึ้นเรื่อยๆ  

วิธีพัฒนาภาวะผู้นำ

วิธีพัฒนาภาวะผู้นำในตนเอง
มีความจริงบางประการเกี่ยวกับภาวะผู้นำ คือ
ทุกคนมีภาวะผู้นำในตัวบ้างอยู่แล้ว และแต่ละคนมีภาวะผู้นำไม่เท่ากัน
แท้จริง ภาวะผู้นำนั้นมีอยู่แล้วในตัวเราแต่ละคน เพราะคุณสมบัติของภาวะผู้นำหลายประการสามารถถูกสร้างขึ้นในตัวบุคคลได้โดยกลไกทางธรรมชาติ โดยการเลี้ยงดูของครอบครัว โดยอิทธิพลของสังคม สิ่งแวดล้อม โดยระบบการศึกษา โดยแบบอย่างบุคคลที่ประทับใจ โดยสื่อต่างๆ ฯลฯ คนที่มีโอกาสใกล้ชิดคนที่มีภาวะผู้นำที่ดีหรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สร้างภาวะผู้นำได้ดี ตัวเขาก็จะเกิดภาวะผู้นำโดยไม่รู้ตัว เช่น คนที่เกิดในครอบครัวที่เลี้ยงดูลูกโดยให้รู้จักดูแลตัวเองและมีหน้าที่รับผิดชอบในครอบครัวก็จะเติบโตขึ้นมีภาวะผู้นำมากกว่าคนที่เกิดมาในครอบครัวที่เลี้ยงดูอย่างประคบประหงมมากและไม่เคยได้รับผิดชอบอะไร
เราเห็นได้ชัดว่ามีคนบางคนที่มีภาวะผู้นำสูงมากโดยที่เขาเองก็ไม่รู้ตัว เช่น จะมีเพื่อนมากเวลาที่เขาไปไหนผู้คนก็รู้สึกอยากไปด้วย จะทำอะไรก็มีคนอยากทำด้วย เมื่อเขาเอ่ยปากจะมีคนตอบสนอง เขาเป็นเสมือนแม่เหล็กที่ดึงดูดผู้คน ผู้คนก็มักจะฟังความเห็นของเขา ขอให้เขาช่วยตัดสินใจ ขอให้เขาช่วยแก้ปัญหา ผู้คนมักไว้วางใจเขาในเรื่องสำคัญๆ ซึ่งตรงกันข้ามกับบางคนที่ไม่มีแรงดึงดูดผู้คนเลย ร้ายกว่านั้นคือบางคนเป็นแม่เหล็กขั้วเหมือนที่ผลักผู้คนให้ออกห่างตลอดเวลา
เราสามารถสร้างภาวะผู้นำในตนเองและพัฒนาให้เพิ่มขึ้นได้
หากเรายังมีภาวะผู้นำน้อย เราก็สามารถสร้างภาวะผู้นำขึ้นได้และพัฒนาให้มีมากขึ้นได้ด้วยเช่นกัน คนทุกคนสามารถเป็นผู้นำได้หากเขาพยายามพัฒนาตัวเอง ยอมรับการสร้างและได้รับการสร้างอย่างถูกต้อง
เราสามารถช่วยสร้างและพัฒนาภาวะผู้นำในตัวผู้อื่นได้
ไม่เพียงแต่พัฒนาตัวเองเท่านั้น เรายังสามารถสร้างและพัฒนาภาวะผู้นำในตัวผู้อื่นได้อีกด้วย

วิธีพัฒนาตัวเองให้มีภาวะผู้นำ
  1. ยอมเป็นผู้ตามคนที่มีความเป็นผู้นำที่ดี ใช้เวลาใกล้ชิดกับเขาเพื่อเรียนรู้และซึมซับภาวะผู้นำจากเขา
  2. เรียนรู้และฝึกฝนความรู้ ทัศนคติ และทักษะที่จำเป็นต่อการเป็นผู้นำที่ดี (ตามหัวข้อที่ผ่านมา) โดยในการเรียนควรใช้หลักสูตรที่มีทั้งความรู้ภาคทฤษฎีและการฝึกปฏิบัติ
  3. ทดลองนำจริง โดยมีผู้นำที่ดีเป็นพี่เลี้ยง คอยดูแลให้คำแนะนำ
  4. ลองนำโดยเริ่มจากนำกลุ่มเล็กก่อน แล้วก้าวไปสู่การนำกลุ่มที่ใหญ่ขึ้น
  5. ลองนำโดยเริ่มจากการนำในงานที่ง่ายก่อน แล้วก้าวไปสู่การนำในงานที่ยากขึ้น
  6. ลองทำงานเป็นกลุ่มร่วมกับผู้อื่น โดยที่เราไม่ได้มีตำแหน่งผู้นำ แล้วร่วมงานนั้นโดยใช้ภาวะผู้นำที่ตนมี จนกระทั่งคนในกลุ่มยอมรับการนำของเรา
วิธีพัฒนาภาวะผู้นำในตัวผู้อื่น
มีวิธีหลายประการที่เราจะสามารถสร้างและพัฒนาภาวะผู้นำในตัวผู้อื่นได้
  1. สร้างบรรยากาศให้ผู้อื่นอยากพัฒนาตัวเป็นผู้นำ 
โดยธรรมชาติผู้คนจะอยากพัฒนาตัวให้ดีขึ้นและเป็นผู้นำคนอื่นอยู่แล้ว ขอเพียงแต่บรรยากาศ
แวดล้อมเอื้อให้เขาพัฒนาตัวได้ ฉะนั้นผู้นำควรสร้างบรรยากาศที่เอื้อให้คนอยากพัฒนาตัวให้เป็นผู้นำโดย (1) เป็นแบบอย่างของการเป็นผู้นำที่ดีแก่ผู้อื่น (2) แสดงความเชื่อในศักยภาพของผู้คน (3) เอาใจใส่ผู้คน (4) จูงใจผู้คนให้อยากพัฒนาตนเอง โดยอาจใช้ผลตอบแทนหรือการชมเชยเป็นสิ่งจูงใจ (5) ลังเกตและมองหาความเป็นผู้นำที่ซ่อนอยู่ภายในตัวผู้คน (6) ให้โอกาสผู้คนแสดงความสามารถเพื่อจะเติบโตขึ้น
2. กำหนดตัวผู้นำที่มีศักยภาพโดย
1) คัดเลือกคนที่เห็นแววหรือผ่านการพิสูจน์ว่าสามารถเป็นผู้นำที่มีศักยภาพ ลักษณะของคนที่มีแววผู้นำที่มีศักยภาพ เช่น มีความเข้มแข็งอดทน มุ่งมั่น ซื่อตรงไว้ใจได้ มีอิทธิพลต่อผู้อื่นหมายถึงตนเองมีความมุ่งมั่นว่าทำอะไรแล้วสามารถชักจูงผู้อื่นไปทำด้วยได้ มีทัศนคติที่สร้างสรรค์ คิดแง่บวก อารมณ์แจ่มใสร่าเริง มีอารมณ์ขันแต่มีสาระ มีทักษะเรื่องคน มีพรสวรรค์ มีผลงาน มีความมั่นใจ กล้าคิดกล้าทำกล้าแสดงออก มีวินัยบังคับตัว พูดจาและสื่อสารได้ดี บุคลิกอบอุ่นมนุษย์สัมพันธ์ดี
2) แต่งตั้งหรือว่าจ้างเขาให้เข้าสู่ตำแหน่งผู้นำระดับต้น หรือเตรียมเป็นผู้นำ
3) บอกให้เขารู้ถึงความคาดหวังที่เรามีต่อเขา
4) เตรียมเขาสู่กระบวนการสร้างหรือฝึกอบรมให้เป็นผู้นำ
3. สร้างเขาให้เป็นผู้นำที่มีศักยภาพ
เมื่อเราได้คนที่เห็นแววและเลือกเขาเพื่อจะเตรียมเป็นผู้นำแล้ว ต่อมาคือต้องสร้างเขาให้มีภาวะผู้นำมากขึ้น โดยการ (1) เป็นต้นแบบที่ดีให้แก่เขา (2) เป็นที่ปรึกษาให้เขา (3) ให้ความสนิทสนมแก่เขา (4) ให้กำลังใจเขา แสดงความเชื่อมั่นในตัวเขา (5) ฝึกอบรมเขา (ด้วยวิธีตามหัวข้อที่ผ่านมา) (6) ให้เขาได้ลองปฏิบัติงานจริงจากง่ายไปสู่ยาก (7) ประเมินผลเขาเป็นระยะๆ (8) ค่อยๆมอบอำนาจให้เขา (9) จนเมื่อเขาพร้อมก็ให้เขารับช่วงต่อเต็มตัว
  1. สร้างทีมผู้นำที่มีศักยภาพ
ผู้นำไม่ควรสร้างผู้นำเพียงคนเดียว ต้องสร้างหลายๆคนจนกระทั่งเป็นทีมผู้นำ และไม่ควรเป็นทีมธรรมดา แต่เป็นทีมที่เปี่ยมประสิทธิภาพ เป็นทีมของคนที่เปี่ยมไปด้วยภาวะผู้นำ และเราก็ทำหน้าที่เป็นโค้ชของทีมผู้นำ
เราต้องสร้างทีมผู้นำให้มีลักษณะทีมที่ดีคือ มีความรักความห่วงใยซึ่งกันและกัน มีจุดมุ่งหมายอย่างเดียวกัน สื่อสารซึ่งกันและกันจนถึงระดับรู้ใจ เติบโต พัฒนาไปพร้อมๆกัน สมาชิกทีมยอมเสียสละตนเองเพื่อจุดมุ่งหมายของทีม
สิ่งที่โค้ชควรทำในการสร้างทีมคือ (1) สร้างความสัมพันธ์ส่วนตัวในสมาชิกทีม โดยให้ทีมผู้นำใช้เวลาด้วยกันมากๆ ทั้งในเวลางานและนอกเวลางานจนเกิดเป็นความสนิทสนมส่วนตัว (2) เน้นบรรยากาศการทำงานเป็นทีม (3) มอบหมายงานให้ทั้งทีม (4) วัดความสำเร็จของทั้งทีม ไม่วัดเฉพาะความสามารถส่วนตัวอย่างเดียว (5) มีความยุติธรรมในการมอบหมายหน้าที่ การชมเชยและการให้ผลประโยชน์
  1. พัฒนาทีมผู้นำให้เติบโตจนสร้างผู้นำรุ่นต่อไปและเพิ่มทีมผู้นำมากขึ้น
เมื่อถึงขั้นนี้แล้ว สิ่งที่เราในฐานะผู้นำต้องทำต่อไปก็คือ สร้างผู้นำรุ่นต่อไป สร้างทีมงานเพิ่มขึ้น 

แล้วตนเองก็ก้าวขึ้นไปสู่งานที่ใหญ่ขึ้น วิธีการคือ (1) มอบหมายให้ทีมผู้นำที่เราสร้างขึ้นแล้วให้สร้างผู้นำและทีมผู้นำต่อไป (2) ตัวเราก็ยังต้องสร้างผู้นำและทีมผู้นำต่อไปด้วย (3) พัฒนาทีมผู้นำที่มีแล้วให้เติบโตจนสามารถก้าวขึ้นไปทำงานที่สูงขึ้นและยากขึ้นได้ (4) ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆเพื่อตัวเราก็จะได้ก้าวสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ได้เช่นกัน

ภาวะผู้นำแบบคริสเตียน

ลักษณะพิเศษของภาวะผู้นำแบบคริสเตียน
โลกนี้ก็ต้องการผู้นำ งานของพระเจ้าต้องการผู้นำ พระคัมภีร์สอนเรื่องการเป็นผู้นำ โลกนี้ก็สอนเรื่องการเป็นผู้นำ ถ้าเช่นนั้นแล้วการเป็นผู้นำแบบคริสเตียนเหมือนหรือแตกต่างจากการเป็นผู้นำทั่วไปอย่างไรล่ะ ? พระคัมภีร์ให้แนวคิดเกี่ยวกับการเป็นผู้นำที่ต่างจากแนวคิดของโลกโดยทั่วไปไว้หลายประการ ได้แก่
  1. ต้องนำเพื่อรับใช้พระเจ้าก่อน มิใช่เพื่อตนเองเป็นหลัก 
ผู้นำต้องนำเพื่อให้ทั้งตนเองและผู้ตามบรรลุนํ้าพระทัยพระเจ้า เพื่อเป็นการรับใช้พระเจ้า (ยน.12: 
26) มิใช่เพื่อบรรลุความประสงค์ของตนเองเป็นหลัก พระเยซูทรงเป็นแบบอย่างแก่เราโดยทรงตรัสว่า “เราจะทำสิ่งใดตามอำเภอใจไม่ได้...เพราะเรามิได้มุ่งที่จะทำตามใจของเราเอง แต่ตามพระประสงค์ของพระองค์ผู้ทรงใช้เรามา” (ยน.5:30) นอกจากนี้ ผู้นำที่นำเพื่อรับใช้พระเจ้าจะยอมเป็นผู้ตามที่ดีหากเป็นน้ำพระทัยพระเจ้า
  1. ต้องนำเพื่อรับใช้ผู้อื่นก่อน มิใช่เพื่อผลประโยชน์ของตนเองเป็นหลัก 
ผู้นำต้องนำเพื่อประโยชน์ในการรับใช้ผู้อื่นด้วย มิใช่เพื่อประโยชน์ส่วนตนอย่างเดียว ดังที่พระคัมภีร์
กล่าวว่า “ผู้ใดที่เป็นนายใหญ่ในพวกท่าน ผู้นั้นย่อมต้องรับใช้ท่านทั้งหลาย” (มธ.23:11) “ถ้าผู้ใดใคร่จะได้เป็นคนต้น ก็ให้ผู้นั้นเป็นคนสุดท้าย และเป็นผู้รับใช้ของคนทั้งปวง” (มก.9:35)
  1. ต้องนำด้วยความถ่อมใจและการเป็นแบบอย่างก่อน มิใช่ด้วยการใช้อำนาจเป็นหลัก
ผู้นำต้องนำด้วยความถ่อมใจ มิใช่มักใหญ่ใฝ่อำนาจ คือนำด้วยการเป็นแบบอย่างและการจูงใจเป็นหลัก จะใช้อำนาจเฉพาะเมื่อไม่มีทางอื่นเท่านั้น และเมื่อจำเป็นต้องใช้อำนาจ ก็จะใช้ในทางที่ถูกต้อง และไม่ใช้อำนาจเกินกว่าที่ตนได้รับมา ดังที่พระธรรม 1 เปโตร 5:3 กล่าวถึงผู้นำว่า “... ไม่ใช่เหมือนเป็นเจ้านายที่ข่มขี่ผู้ที่อยู่ใต้อำนาจ แต่เป็นแบบอย่างแก่ฝูงแกะนั้น”
  1. ต้องนำด้วยความซื่อสัตย์และจริงใจ มิใช่ด้วยการใช้เล่ห์เหลี่ยม 
ผู้นำต้องนำด้วยความซื่อสัตย์และจริงใจต่อพระเจ้า ต่อตนเอง และต่อผู้ที่ตนนำ ไม่ใช้ความภักดีของ
ผู้ที่ตนนำเพื่อประโยชน์ส่วนตน แน่นอนว่าในการนำ เราควรใช้สติปัญญาอย่างมาก แต่ต้องไม่ใช้สติปัญญาที่
แฝงด้วยเล่ห์เหลี่ยม ควรเป็นสติปัญญาแห่งความชอบธรรมและสร้างสรรค์เท่านั้น ดังที่เปาโลกล่าวว่า “เราได้ละทิ้งเล่ห์เหลี่ยมต่างๆที่น่าอับอายไปหมดสิ้นแล้ว เราไม่ทำกลอุบายและไม่ได้พลิกแพลงพระกิตติคุณของพระเจ้า แต่โดยสำแดงสัจจะ เราเสนอตัวเราให้กับจิตสำนึกผิดชอบของคนทั้งปวงจำเพาะพระพักตร์พระเจ้า” (2 คร.4:2) เรื่องนี้ยังรวมถึงว่าวิธีการในการนำก็ต้องเป็นวิธีที่ชอบธรรมด้วย
  1. ต้องนำด้วยการพึ่งพระเจ้าก่อน มิใช่พึ่งแต่ตนเองเป็นหลัก 
ผู้นำต้องนำด้วยการพึ่งพาพระเจ้า ไม่ใช่พึ่งแต่กำลังความสามารถและสติปัญญาของตนเอง หรือ
กำลังของมนุษย์ การตัดสินใจที่สำคัญก็พึ่งการทรงนำของพระเจ้าด้วย ไม่ใช่พึ่งแต่ความคิด ความเห็นของมนุษย์ จากชีวิตของทั้งโมเสส ดาวิด เปาโล และพระเยซูคริสต์ เราจะพบว่าท่านเหล่านี้เป็นสุดยอดผู้นำ แต่เขากลับให้เวลาอย่างมากในการอธิษฐานเข้าเฝ้าพระเจ้าเสมอ
  1. ต้องนำโดยคุณสมบัติด้านจริยธรรมก่อน มิใช่มีแต่คุณสมบัติด้านความสามารถเป็นหลัก
ในพระคัมภีร์เมื่อมีการตั้งผู้นำมักจะมีการกล่าวถึงคุณสมบัติของผู้ที่จะขึ้นมาทำหน้าที่เสมอ คนที่โมเสสตั้งให้เป็นผู้นำมีการระบุคุณสมบัติว่าต้องเป็น “คนที่ยำเกรงพระเจ้าไว้ใจได้ และไม่กินสินบน” (อพย.18:21) การตั้งผู้นำในพระธรรมกิจการระบุคุณสมบัติว่า “เหตุฉะนั้นพี่น้องทั้งหลายจงเลือกเจ็ดคนในพวกท่านที่มีชื่อเสียงดีประกอบด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ และสติปัญญา เราจะตั้งเขาให้ดูแลการงานนี้” (กจ.6:3) ท่านเปาโลก็สอนทิตัส และทิโมธีให้ตั้งผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมให้เป็นผู้ปกครองดูแลและมัคนายกไว้ในทุกคริสตจักรโดยกล่าวว่า “....คือตั้งคนที่ไม่มีข้อตำหนิ เป็นสามีของหญิงคนเดียว บุตรของเขามีความเชื่อ และไม่มีช่องทางให้ผู้ใดกล่าวหาว่าบุตรนั้นเป็นนักเลงหรือเป็นคนดื้อกระด้าง เพราะว่าผู้ปกครองดูแลนั้น ในฐานะที่เป็นผู้รับมอบฉันทะจากพระเจ้า ต้องเป็นคนที่ไม่มีข้อตำหนิ ไม่เป็นคนเย่อหยิ่ง ไม่เป็นคนเลือดร้อน
ไม่เป็นนักเลงสุรา ไม่เป็นนักเลงหัวไม้ และไม่เป็นคนโลภมักได้ แต่เป็นคนมีอัชฌาสัยรับแขกดี เป็นผู้รักความดี เป็นคนมีสติสัมปชัญญะ เป็นคนยุติธรรม เป็นคนบริสุทธิ์ รู้จักบังคับใจตนเอง และเป็นคนยึดมั่นในหลักคำสอนอันแท้ตามที่ได้เรียนมาแล้ว เพื่อจะสามารถเตือนสติด้วยคำสอนอันมีหลัก และชี้แจงแก่ผู้ที่คัดค้านคำสอนนั้น” (1 ทธ.3:1-13; ดูเพิ่มเติมใน ทต.1:5-11)
จากพระคัมภีร์ตอนเหล่านี้เราพบว่าผู้นำแบบคริสเตียนนั้นต้องมีคุณสมบัติที่ครอบคลุมทั้งด้าน
จริยธรรมและด้านความสามารถด้วย แต่จะเน้นด้านจริยธรรมเป็นพื้นฐาน และด้านทักษะความสามารถเป็นสิ่งที่จะตามมา และในประสบการณ์จริง เราก็มักจะพบว่าคนที่ดีจริง มีความตั้งใจจริงก็มักจะพัฒนาความสามารถตามมาด้วย

ผลตอบแทนของผู้นำ
ผู้นำจะได้รับอะไร? เป็นเรื่องปกติที่ผู้นำจะได้รับสิ่งเหล่านี้มากกว่าผู้ตาม
สิ่งที่ดูเหมือนไม่ดีที่ผู้นำมักจะได้รับ 
  1. คำวิจารณ์ ผู้นำทุกคนล้วนแต่ต้องผ่านการถูกวิพากษ์วิจารณ์ ถูกตำหนิ จะมีทั้งคำวิจารณ์ทั้งที่เป็นธรรมและไม่เป็นธรรม
  2. ความเหน็ดเหนื่อย ความสูญเสีย และความเจ็บปวด ผู้นำมักต้องเผชิญกับความสูญเสียบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเสียเงิน เสียเวลา เสียกำลังเรี่ยวแรง เสียความเป็นส่วนตัว เสียความรู้สึก
  3. ความโดดเดี่ยวและเหงา เป็นความรู้สึกดังวลีที่ว่า “ยิ่งสูงยิ่งหนาว” ผู้นำจะเผชิญกับสิ่งนี้บ้างอย่างหลีกเลี่ยงมีได้
  4. ความเสี่ยงต่อความผิดพลาด คนที่ทำงานมักจะต้องเสี่ยงต่อความผิดพลาดล้มเหลวซึ่งก็เป็นปกติที่ผู้นำหรือคนที่ต้องทำสิ่งใดก่อนคนอื่น ย่อมต้องเสี่ยงต่อความผิดพลาดก่อนคนอื่นและมากกว่าคนอื่น และมักจะผิดพลาดล้มเหลวบ้าง แล้วความบกพร่องผิดพลาดและล้มเหลวนั้นก็จะนำไปสู่การเรียนรู้และความสำเร็จในภายหลัง คนที่ไม่ผิดพลาดคือคนที่ไม่ทำอะไร คอยวิจารณ์อย่างเดียว คนที่นำคนอื่นหากจะผิดก็จะพบความผิดพลาดก่อนคนอื่น
  5. การถูกปฏิเสธ ถูกโกรธ เกลียด บางครั้งผู้นำจะต้องถูกเกลียดทั้งจากผู้ที่ตนเองนำและผู้อื่น เพราะผู้นำมักจะต้องตัดสินใจบางอย่างที่ถูกใจคนบางกลุ่ม แต่ก็จะไม่ถูกใจคนบางคนบางกลุ่ม ซึ่งไม่มีทางที่เราจะทำอะไรให้ถูกใจทุกคนทุกกลุ่มได้
  6. การทดลองหรือการยั่วยุให้ทำผิด ผู้นำมักจะถูกทดลองมากกว่าผู้ตาม ไม่ว่าจะเป็นการทดลองให้ทำผิดในเรื่องการใช้อำนาจ เงิน และเพศ
แท้จริงแล้วสิ่งที่ดูเหมือนไม่ดีนี้ก็สามารถเป็นสิ่งดีเช่นกัน หากเรามีท่าทีถูกต้องตามหลักพระวจนะ เช่น ทำให้เราติดสนิทกับพระเจ้ามากขึ้น ทำให้เราฉลาดขึ้น อดทนขึ้น เติบโตขึ้น นิสัยดีขึ้น รู้จักตัวเองมากขึ้น รู้จักคนอื่นมากขึ้น ได้พัฒนาตัวเองมากขึ้น ได้เห็นพระคุณและความยิ่งใหญ่ของพระเจ้ามากขึ้น ทำให้เราได้รับใช้พระเจ้ามากขึ้น ได้รับบำเหน็จมากขึ้น ทำให้เรามีโอกาสใหม่ๆมากขึ้น ฯลฯ ผู้นำที่ทำสิ่งดี แม้จะได้รับสิ่งที่ไม่ดีก็จะกลับกลายเป็นสิ่งดีในภายหลังได้

สิ่งที่ผู้นำมักจะได้รับ
1. ความสำเร็จ ผู้นำจะมีโอกาสพบความสำเร็จมากกว่าผู้ที่ไม่พร้อมจะนำใคร
2. ความภาคภูมิใจ ผู้นำที่ประสบความสำเร็จจะบังเกิดความภาคภูมิใจมากกว่าผู้ที่ไม่พร้อมจะนำใคร
3. ความรัก ผู้นำที่ดีจะได้รับความรักจากผู้ที่ตนนำ
4. ชื่อเสียง ความนิยมชมชอบ ผู้นำที่ดีจะเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมชมชอบจากผู้ที่ตนนำ ผู้คนจะจดจำผู้นำมากกว่าผู้ที่ไม่พร้อมจะนำใคร
5. การยอมรับ การยกย่อง เกียรติ ผู้นำที่ดีจะได้รับการยอมรับ การยกย่องให้เกียรติจากบรรดาคนที่ตนนำ และจากบุคคลอื่นด้วย
6. การพัฒนาตัว ผู้ที่ทำหน้าที่นำคนอื่นจะได้พัฒนาความรู้ความสามารถตัวเองมากกว่าผู้ที่ไม่นำใคร
  1. ผลตอบแทนที่มากขึ้น ผู้นำมักจะได้รับผลตอบแทนมากกว่าผู้ตาม ไม่ว่าจะเป็นเงินตอบแทน เกียรติ 
ตำแหน่ง หรือสิทธิพิเศษ
  1. บำเหน็จและพระพรจากพระเจ้า ผู้นำฝ่ายวิญญาณจะได้รับบำเหน็จจากพระเจ้าเป็นพิเศษ ท่านเปาโล
กล่าวถึงผู้ทำหน้าที่ผู้นำคริสตจักรที่เลี้ยงดูจิตวิญญาณผู้อื่นว่า “...และเมื่อพระผู้เลี้ยงผู้ยิ่งใหญ่จะเสด็จมาปรากฏ ท่านทั้งหลายจะรับศักดิ์ศรีเป็นมงกุฎที่ร่วงโรยไม่ได้เลย” (1 ปต.5:1-4)

เราเห็นจากชีวิตของพระเยซูว่าแม้ทรงเป็นต้นแบบของผู้นำที่ดีเยี่ยม แต่พระองค์ก็ทรงได้รับสิ่งที่ไม่ดีเหล่านี้ทั้งสิ้น ทรงถูกวิจารณ์อย่างไม่เป็นธรรม ถูกใส่ความ ทรงเหน็ดเหนื่อยและเจ็บปวด ทรงถูกทอดทิ้งถูกปฏิเสธ การทดลอง ความเสี่ยง จนกระทั่งถึงกับต้องสละพระชนม์ชีพ แต่ท้ายที่สุดด้วยการเชื่อฟังของพระองค์ ก็ทำให้แผนการไถ่ของพระบิดาสำเร็จ พระนามของพระองค์ก็ถูกยกขึ้นเชิดชูเหนือนามทั้งปวง และสิ่งที่พระองค์กระทำได้ส่งผลเปลี่ยนแปลงโลกครั้งยิ่งใหญ่มาจนถึงปัจจุบัน

ผู้นำกับวิสัยทัศน์และเป้าหมาย

วิสัยทัศน์และเป้าหมายของผู้นำ
ลักษณะที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของคนที่มีภาวะผู้นำก็คือ เขาเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์และเป้าหมายวิสัยทัศน์ (หรือบางครั้งใช้คำว่า “นิมิต”) หมายถึงการสามารถมองเห็นอนาคตหรือหยั่งรู้อนาคต ส่วนเป้าหมายคือ สิ่งที่อยากทำให้เกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งการกำหนดจุดที่ชัดเจนในอนาคตที่หวังจะไปให้ถึง
ผู้คนจะติดตามคนที่มีวิสัยทัศน์และเป้าหมาย เพราะผู้คนอยากตามคนที่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร และควรจะเดินมุ่งสู่อนาคตอย่างไร ยิ่งกว่านั้นพวกเขาอยากตามคนที่มองเห็นได้ไกลกว่าตนเอง ผู้นำที่ไร้ทั้งวิสัยทัศน์และเป้าหมาย อาศัยเพียงความสนิทสนมส่วนตัวกับผู้ตาม หรือบุคลิกภาพที่ดี จะพบว่าแม้บรรดาผู้ตามยังคงรักเขา แต่ในที่สุดผู้คนที่มีความคิดและต้องการความก้าวหน้าก็จะหันไปหาผู้นำใหม่ที่พวกเขามั่นใจในวิสัยทัศน์และเป้าหมายมากกว่า ฉะนั้น ผู้นำจึงต้องมองอนาคตเสมอในขณะที่ยังต้องทำสิ่งต่างๆในปัจจุบัน
การนำต้องเริ่มจากการมีวิสัยทัศน์ เป้าหมาย แล้วต่อจากนั้นก็จะเป็นเรื่องการวางแผนและการปฏิบัติการ เพื่อนำพาตัวเองและผู้ตามให้ไปถึงเป้าหมายนั้นให้ได้
วิธีกำหนดวิสัยทัศน์และเป้าหมาย
1. ประมวลมุมมองเพื่อสร้างวิสัยทัศน์
วิสัยทัศน์คือการมองเห็น และเป็นการมองเห็นที่เกิดจากการพยายามมองในหลายมิติ ทั้งมองลึก มองกว้าง มองใกล้และมองไกล วิธีที่ช่วยให้เราสามารถมองเห็นจนเกิดวิสัยทัศน์สำหรับตัวของเราและคนที่เรานำอยู่ มีดังนี้คือ
  1. มองตนเอง ดูว่าเรารู้สึกลึกๆอย่างไร เราใฝ่ฝันอยากเห็นอะไรเกิดขึ้นหรืออยากทำอะไร เราเชื่อมั่นในอะไร มีอะไรในชีวิตนี้ที่เราจะบากบั่นมุ่งไป ไม่ว่าจะมีอุปสรรคขัดขวางเพียงใดก็ตาม ขณะเดียวกันก็ดูว่าทุกวันนี้ตัวเราเป็นอย่างไร มีจุดแข็งจุดอ่อนอะไร มีต้นทุนชีวิตอะไรบ้างมองตัวเองทั้งอดีต ปัจจุบันและอนาคต
  2. มองรอบตัว ดูว่าเรามีทรัพยากรอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็น คน เงิน เครื่องมือ อุปกรณ์เวลา กำลัง ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ สายสัมพันธ์ อำนาจ ฯลๆ มองปัจจัยเหล่านี้ทั้งอดีต ปัจจุบันและอนาคต
  3. มองคนอื่น ดูว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นกับคนอื่นๆทั่วไป ทั้งไกลตัวและใกล้ตัวเรา มองสังคมโดยรวม ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ภูมิภาค ชาติ ทวีป และทั่วโลก มองทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมการเมือง สิ่งแวดล้อม และจิตวิญญาณ มองคนอื่นทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
  4. มองพระเจ้า ดูว่าพระเจ้ามีน้ำพระทัยอะไรในชีวิตของเรา ทั้งนี้น้ำพระทัยทั่วไปที่เรารู้ได้จากการทรงสำแดงทั่วไปในการอ่านพระคัมภีร์ (2 ทธ.3:16) และนํ้าพระทัยเฉพาะเจาะจงที่เรารู้ได้จากการทรงสำแดงพิเศษ (กจ.26:19) เราต้องให้นํ้าพระทัยมีความสำคัญสูงสุดในชีวิตของเราเหนือ กว่าความต้องการของคนอื่นและตัวเราเอง เราต้องมุ่งทำให้นิมิตที่พระเจ้าประทานให้สำเร็จ(กจ.26:19; 2 ทธ.4:5) และนอกจากนี้ พระเจ้ายังทรงสามารถประทานนิมิตใหม่ หรือขยายนิมิตแก่เราได้ ซึ่งเราก็ต้องพร้อมจะเชื่อฟัง (กจ.10:9-33) มองสิ่งที่พระเจ้าทรงมีนํ้าพระทัยต่อเราทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคต
เมื่อมองทุกมุมและทุกมิติแล้ว ให้นำมาประมวลแล้วมองไปยังภาพรวมอนาคตว่า แนวโน้มอนาคตคืออะไร มีโอกาสอะไรและสิ่งคุกคามอะไร และเราอยากเห็นอะไรเกิดขึ้นกับเราและคนที่เรานำ สิ่งที่เราอยากเห็นและอยากเป็นนั้นมีความเป็นไปได้เพียงใด จากนั้นก็สรุปแล้วเขียนออกมาเป็นถ้อยคำแห่งวิสัยทัศน์ในชีวิตของเราที่เราจะดำเนินตามไป
2. กำหนดวิสัยทัศน์และเป้าหมายที่ครอบคลุมและชัดเจน
เมื่อได้วิสัยทัศน์แล้วก็นำวิสัยทัศน์มากำหนดเป็นเป้าหมาย วิสัยทัศน์และเป้าหมายที่ดีจะต้องมีลักษณะดังนี้คือ ครอบคลุมทุกสิ่งที่อยากทำ มีความชัดเจนเฉพาะเจาะจงที่วัดผลได้ ท้าทายให้พยายาม และจำง่าย วิธีการคือ
1. พิจารณาว่า เราจะทำอะไรเพื่อพระเจ้า เพื่อตัวเราและคนที่เรานำ เป็นการกำหนดเป้าหมายชีวิตควรพิจารณาครอบคลุมชีวิตทุกด้าน ได้แก่
-   ด้านพันธกิจ เราอยากบรรลุเป้าหมายอะไรในการรับใช้พระเจ้า เช่น
เราจะเป็นพยานกับคนครบ..............คน ในปี............
เราจะนำกลุ่มย่อยครบ.............กลุ่ม ในปี..............
เราจะตั้งคริสตจักรครบ...........แห่ง ในปี...........
เราจะถวายทรัพย์ให้ได้จำนวน.................บาท ในปี.................
  • ด้านชีวิตส่วนตัวและครอบครัว เราอยากบรรลุเป้าหมายอะไรในด้านชีวิตส่วนตัวและครอบครัว เช่น
เราจะเรียนจบปริญญาตรีสาขา......................ในปี............
เราจะแต่งงานกับ....... .........ในปี............
เราจะมีลูก.......คน คนแรกปี.........คนที่สองในปี...........
เราจะมีบ้านส่วนตัวที่...................ในปี...............
เราจะมีเงินเก็บจำนวน...............บาท ในปี............
เราจะเกษียณในปี................
  • ด้านงานอาชีพ การเลี้ยงชีพเป็นด้านหนึ่งที่สำคัญมากของชีวิต เราอยากบรรลุเป้าหมายอะไรเกี่ยวกับงานอาชีพของเรา (เป้าหมายนี้อาจรวมเข้ากันกับเป้าหมายด้านพันธกิจ หากเราเป็นผู้รับใช้เต็มเวลา) เช่น
เราจะทำงานอาชีพ.........................ในปี.............
เราจะเข้าสู่ตำแหน่ง...................ในปี.................
หรือเราจะมีธุรกิจส่วนตัวคือ..........................ในปี...................
2. กำหนดเป้าหมายเป็นระยะๆ เพื่อจะบรรลุความสำเร็จได้ วิธีการคือกำหนดเป้าหมายระยะสุดท้ายก่อน แล้วจึงกำหนดเป้าหมายระยะกลางและระยะสั้นตามลำดับ เช่น กำหนดเป้าหมายปีสุดท้ายระยะ 10 ปี จากนั้นมากำหนดเป้าหมายระยะ 5 ปี จากนั้นก็มากำหนดเป้าหมาย 2 ปี เป้าหมาย 1 ปี และ 3 เดือน การมีเป้าหมายแต่ละระยะต้องส่งเสริมให้เป้าหมายสุดท้ายสำเร็จมากขึ้นๆ เป็นลำดับ
3. กำหนดแผนงานที่จะทำให้เป้าหมายสำเร็จโดยการกำหนดแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการ

แผนยุทธศาสตร์ (Strategic Plan) คือการระบุว่าเราจะทำให้เป้าหมายสำเร็จโดยใช้วิธีการใดบ้าง ส่วนแผนปฏิบัติการ (Action Plan) คือการระบุว่ายุทธศาสตร์ที่จะทำนั้นจะมีรายละเอียดอย่างไร ต้องทำอะไรก่อนหลังหรือทำไปพร้อมกัน ต้องทำเองหรือให้ใครทำ ต้องใช้ทรัพยากรอะไรบ้าง ต้องใช้เวลาเท่าไร งบประมาณเท่าไร และอุปกรณ์เครื่องมืออะไรบ้าง เป็นต้น

ผู้นำกับบุคลิกภาพ

บุคลิกภาพของผู้นำ
ผู้นำควรมีบุคลิกภาพที่ดี สาเหตุเพราะบุคลิกภาพที่ดีจะสะท้อนลักษณะนิสัย และความน่าเชื่อถือของคนแต่ละคน หากผู้นำมีบุคลิกภาพที่ดี ก็จะเป็นที่น่าประทับใจและน่าเชื่อถือของผู้ตาม บุคลิกภาพเป็นสิ่งที่พัฒนาปรับปรุงได้ แต่ต้องอาศัยความพากเพียรอดทนในการพยายามแก้ไข
บุคลิกภาพที่ดีที่ควรสร้างมีสองด้านคือ บุคลิกภาพภายนอกและภายใน
บุคลิกภาพภายนอก
เป็นลักษณะภายนอกที่มองเห็นได้คือ การสร้างความประทับใจแก่ผู้อื่น ทำให้เกิดความรู้สึกว่าเราเป็นผู้ที่น่าไว้วางใจ เชื่อถือได้ บุคลิกภาพภายนอกที่ดีมีดังนี้
  1. การแต่งกาย รูปแบบ รูปทรงและสีของเครื่องแต่งกายควรสุภาพ สะอาด เรียบร้อยเหมาะกับรูปร่าง 
โอกาส สถานที่ และสิ่งแวดล้อม ยังรวมไปถึงใบหน้า ทรงผม รวมทั้งความสะอาดส่วนตัว เช่น กลิ่นตัว กลิ่นปาก ควรแต่งกายให้เหมาะกับรูปร่างและทำให้ดูดีขึ้น เช่น คนเตี้ยควรหลีกเลี่ยงเสื้อผ้าลายขวาง คนสูงควรหลีกเลี่ยงเสื้อผ้าลายตรง คนผอมควรหลีกเลี่ยงเสื้อสีเข้ม คนผิวคลํ้าควรหลีกเลี่ยงเสื้อผ้าสีฉูดฉาด
  1. การเดิน ควรมีลักษณะสง่า ขณะที่เดินควรให้หัวไหล่ตรง เก็บหน้าท้องเล็กน้อย เดินหน้าตรง เป็น
ต้น
  1. การยืน การยืนในขณะที่พูดควรทรงตัวให้ตรง คอตั้ง ไหล่ตึงพอสมควร เท้าห่างกันพอสมควร ยืน
ในลักษณะสำรวมอิริยาบถ แต่สบายพอที่จะเคลื่อนไหวได้ตามจังหวะการพูด ไม่ควรตัวงอหรือยืดตรงเกินไป
  1. การนั่ง ควรนั่งตัวตรง ไหล่ผายมีความสง่า ผู้ชายไม่ควรนั่งให้ขาห่างมากเกินไป ผู้หญิงควรนั่งให้
หัวเข่าชิดกัน ปลายเท้าเหลื่อมกัน ไม่เกี่ยวพันเท้าไว้กับขาเก้าอี้ เมื่อนั่งเรียบร้อยแล้วไม่ควรแสดงอาการบิดตัวเอี้ยวตัวหรือนั่งหลังโกง มือควรประสานไว้บนตัก
  1. สีหน้าและการยิ้ม ควรมีสีหน้าแจ่มใส ยิ้มอยู่เสมอ เพื่อสร้างมนุษยสัมพันธ์ และควรทำด้วยจริงใจ 
ไม่ใช่ฝืนยิ้มหรือแกล้งยิ้ม
  1. สายตา ควรมองอย่างมีไมตรีและจริงใจ เป็นการยิ้มด้วยตา ขณะที่พูดกับใครก็มองคนนั้นด้วย
  2. การสนทนา ใช้น้ำเสียงนุ่มนวล ให้เกียรติคู่สนทนา
  3. มารยาทสังคม ควรศึกษามารยาทสังคมของแต่ละสังคมที่เราอยู่ และปฏิบัติตามนั้น
บุคลิกภาพภายใน
หมายถึงการกระทำต่างๆที่ออกมาจากจิตใจ ไม่สามารถมองเห็นได้ภายนอก มีดังนี้
  1. ความเชื่อมั่นในตนเอง บุคลิกภาพเช่นนี้จะมีความกล้า จะทำให้ผู้อื่นมีความเชื่อมั่นความศรัทธาใน
ตัวเรา ความเชื่อมั่นเกิดได้จาก (1) การมีทัศนคติที่ดีต่อตัวเอง และสิ่งที่ตนเองทำ (2) มีความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่ทำ (3) มีประสบการณ์ในสิ่งที่ทำ
2. ความซื่อสัตย์ รวมถึงความรับผิดชอบ สิ่งนี้จะทำให้ผู้อื่นเชื่อถือ

3. ความกระตือรือร้น เป็นความรู้สึกที่กระตุ้นอยู่ภายในทำให้มีความกระฉับกระเฉงตื่นตัว และมุ่งมั่นที่จะทำให้งานสำเร็จ ความกระตือรือร้นเกิดได้จาก (1) วางเป้าหมายในการทำงาน (2) ขจัดความเซ็งและสร้างอารมณ์อยากทำงาน (3) นึกถึงอุดมการณ์ของตนไว้เสมอ

ผู้นำกับการมีมนุษยสัมพันธ์

มนุษยสัมพันธ์ของผู้นำ
มนุษยสัมพันธ์หมายถึงการติดต่อเกี่ยวข้องกันระหว่างบุคคลเพื่อให้เกิดความรักใคร่ชอบพอความร่วมมือร่วมใจในการทำกิจกรรมให้บรรลุเป้าหมายและการดำเนินชีวิตให้มีความราบรื่น ผู้นำต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับคนมาก การมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีจะทำให้ผู้นำสามารถเข้าสังคมกับผู้อื่นและเป็นที่รักของผู้คนได้ง่าย
จุดมุ่งหมายของมนุษยสัมพันธ์
1. เป็นนํ้าพระทัยพระเจ้าที่จะให้เรารักผู้อื่น และให้คนเรารักซึ่งกันและกัน
2. เพื่อให้รู้จักและเข้าใจผู้อื่น
3. เพื่อให้ได้รับความรักใคร่ ความเชื่อถือศรัทธาและความไว้วางใจจากผู้อื่น
4. เพื่อให้เกิดการร่วมมือร่วมใจในการทำงานไปสู่เป้าหมาย
5. เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งในการทำงานและการอยู่ร่วมกัน
6. เพื่อให้ตนเองมีความสุข ผู้อื่นมีความสุข และสังคมมีความสุข
ลักษณะพิเศษของมนุษยสัมพันธ์แบบคริสเตียน
1. ต้องไม่ให้การรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นทำให้ความสัมพันธ์กับพระเจ้าเสียไป
2. สร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นด้วยความรักอย่างจริงใจ จากความรักแท้แบบของพระเจ้าที่เป็นผลมาจากจิตใจที่บังเกิดใหม่ ไม่ใช่เสแสร้ง หรือหวังผลประโยชน์ที่มีชอบแอบแฝง
เทคนิคการสร้างมนุษยสัมพันธ์
ด้านบุคลิกภาพ
1. ยิ้มแย้มแจ่มใส ร่าเริง เบิกบาน มองโลกแง่ดี
2. แต่งกายให้เหมาะสมกับกาลเทศะ และสะอาด
3. รักษาบุคลิกภาพที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการนั่ง เดิน ยืน รับประทาน ไม่ล้วงแคะแกะเกา เพื่อให้ไม่เป็นที่รังเกียจ
ด้านการสนทนา
  1. ทักทายผู้อื่นก่อน กล่าวสวัสดีก่อน ในธรรมเนียมไทยก็ควรยกมือไหว้ก่อน โดยเฉพาะกับคนที่อาวุโสกว่า
  2. ในการรู้จักใครครั้งแรก เราควรเรียกเขาด้วยชื่อและสรรพนามที่ให้เกียรติเขามากที่สุด หากเขามีตำแหน่งอย่างเป็นทางการก็ควรเรียกเขาตามตำแหน่ง สำหรับคนที่เราไม่รู้ตำแหน่งหรือไม่มีตำแหน่งที่เป็นทางการ เราควรเรียกตามลำดับอาวุโส (โดยเฉพาะคนไทยและคนจีน) เช่น พี่ ป้า น้า อา ลุง ยาย ฯลฯ หรือถ้าไม่แน่ใจก็ควรเรียกเขาอย่างเป็นทางการว่า “คุณ” แล้วต่อด้วยชื่อของเขาไว้ก่อน อย่างไรก็ตามในการรู้จักกันครั้งแรกควรเรียกชื่อหรือสรรพนามที่ให้เกียรติสูงและเป็นทางการไว้ก่อน แล้วถ้าเขาอยากให้เราเรียกด้วยชื่อที่เป็นกันเองมากกว่าเขาก็จะบอกเอง
  3. เป็นนักฟังที่ดี ฟังให้มาก ฟังคู่สนทนาอย่างสนใจ อย่าเอาแต่พูดฝ่ายเดียว
  4. พูดในสิ่งที่ผู้ฟังสนใจ อยากร่วมแสดงความเห็นด้วย พูดเรื่องที่ทำให้ผู้ฟังภูมิใจ รู้จักชม ให้กำลังใจ อย่าพูดแต่เรื่องของตนเอง หรือเรื่องที่ตัวเองสนใจอยู่คนเดียว
  5. ต้องระมัดระวังการพูดจา ไม่ให้กระทบกระเทือนสิ่งที่ผู้อื่นรู้สึกเป็นปมด้อย และเลือกที่จะกล่าวถึงปมเด่นของเขา
  6. ไม่ควรทำตัวเด่นเกินไปหรือทำตัวเป็นผู้รอบรู้ หรือชอบสอนคนอื่นทั้งที่เขายังไม่ได้ขอคำแนะนำเพราะจะทำให้คนอื่นรู้สึกว่าเราวางตัวเหนือกว่า หากจะแนะนำใครต้องทำแบบถ่อมตัวให้เกียรติเขา และไม่ทำให้เขาเสียหน้า
  7. คำพูดสุภาพ นํ้าเสียงนุ่มนวล ไม่กระด้าง มีหางเสียง มีคำลงท้ายครับ/ค่ะ ใช้คำขอบคุณ ขอโทษจนติดปาก
  8. ไม่ขัดแย้งหรือขัดคอผู้อื่นในเรื่องเล็กๆน้อยๆ หรือเรื่องที่ไม่ก่อประโยชน์อะไรขึ้นมาคล้อยตามเขาดีกว่า และหากจำเป็นต้องแย้ง ก็ทำโดยอ้อมๆ อย่าทำให้ใครเสียหน้า อาจใช้คำถามที่ทำให้เขาคิดได้เอง
  9. ใช้อารมณ์ขันอย่างเหมาะสมกับกาลเทศะ
ด้านการวางตัว
1. วางตัวให้เหมาะสมกับกาลเทศะและบุคคล รู้ว่าอะไรควร ไม่ควร รักษามารยาท
2. เอาใจเขามาใส่ใจเรา และพยายามปฏิบัติต่อผู้อื่นในแบบที่เขาชอบ ไม่ใช่แบบที่ตัวเราเองชอบ
3. ให้ความสำคัญแก่ผู้อื่น ซึ่งแสดงออกได้หลายวิธี เช่น (1) จดจำชื่อของเขา และสิ่งที่สำคัญของเขา เช่น วันเกิดเขา (2) ชมเชยเขาต่อหน้า และพูดให้คนอื่นรู้ว่าเขาเก่ง ดี มีความสำคัญ (3) แสดงกิริยาสุภาพอ่อนน้อมถ่อมตนต่อเขา (4) ให้สิ่งที่ดีที่สุดแก่เขา ให้โอกาสในการทำสิ่งต่างๆก่อนตัวเราเสมอ หากทำได้
4. ไม่ควรมีความมั่นใจในตัวเองจนเกินไป การแสดงความบกพร่องหรือไม่สมบูรณ์ของเราบ้างจะทำให้คนชอบเรา
5. ต้อนรับผู้อื่นเสมอ ไม่ว่าผู้นั้นจะไปเยี่ยมบ้านหรือเดินเข้ามาในที่ที่เรานั่งอยู่
6. แสดงนํ้าใจต่อผู้อื่น บริการผู้อื่น สงเคราะห์ช่วยเหลือในเรื่องเล็กๆน้อยๆ
7. รู้จักการให้ ให้ทั้งความรัก ความเห็นใจ ให้อภัย ให้ความช่วยเหลือและให้สิ่งของตามสมควร
8. แสดงความเห็นใจในความทุกข์ของผู้อื่น
9. สนใจผู้อื่นและผู้ที่อยู่ใกล้ชิด
10. ยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น
11. มีความจริงใจต่อผู้อื่น มีความปรารถนาดีต่อผู้อื่น
12. ซื่อสัตย์ ซื่อตรง รับผิดชอบ รักษาคำพูด คำสัญญา รักษาเวลาการนัดหมาย รักษาความลับ
13. ยกย่องให้เกียรติผู้อื่นตามโอกาสอันควร
14. ถ่อมตัว ไม่แสดงอำนาจเหนือผู้อื่น
15. มีความเกรงใจ เช่น ไม่ถามเรื่องส่วนตัวของผู้อื่น ไม่ยืมของใช้ของผู้อื่นโดยไม่จำเป็น
16. ไม่จับผิดผู้อื่น ถ้าผู้อื่นทำผิดเล็กๆน้อยๆ ก็แสร้งทำเป็นไม่เห็นเสียบ้าง
17. เมื่อเป็นฝ่ายผิดก็ต้องยอมรับผิด ไม่โยนความผิดให้ผู้อื่น และรู้จักขออภัยเมื่อทำผิดต่อผู้อื่น
18. ยอมแพ้เสียบ้าง การยอมแพ้มิได้หมายความว่าเป็นฝ่ายผิด แต่ยอมแพ้เพื่อให้ผู้อื่นสบายใจ นอกจากนี้การยอมแพ้ไม่ทำให้เกิดการโต้เถียง
19. มีความเป็นกันเอง รู้จักทักทายปราศรัย ทำตัวง่ายๆ ไม่เจ้าระเบียบจนเกินไป ไม่ทำตนให้ผู้อื่นรู้สึกเกรงกลัว ห่างเหินหรือไม่อยากเข้าใกล้ แต่ควรทำตัวให้คนอื่นเมื่ออยู่ใกล้แล้วสบายใจ
20. เปิดเผยในระดับที่เหมาะสม
21. สังเกตความต้องการของผู้อื่น และให้ในสิ่งที่เขาต้องการเท่าที่ทำได้ ตลอดจนสังเกตอารมณ์ความรู้สึกเพื่อจะได้ตอบสนองให้สอดคล้องกับอารมณ์ได้
22. อดทนและควบคุมอารมณ์ได้ ในยามที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่สบายใจ
23. ศึกษาสภาพแวดล้อมในสังคมที่เราอยู่ เพื่อให้ทราบว่าใครมีความขัดแย้งกับใคร จะได้ระมัดระวังไม่พูดเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะการพูดเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งย่อมทำให้อีกฝ่ายหนึ่งไม่พอใจได้
24. เมื่อได้รับคำชมเชยในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง อย่าโอ้อวดตนเอง แต่ให้ยกเป็นความดีของผู้ที่มีส่วนร่วม
25. พยายามไม่ติใครโดยไม่จำเป็น และหากต้องติ ให้ติอย่างนุ่มนวลด้วยความรัก และติเป็นการ
ส่วนตัว อย่าทำให้เขาอับอาย
26. ยิ่งใกล้ชิดสนิทกับใครมากเท่าไรควรเกรงใจเขาให้มากขึ้นเท่านั้น อย่าลืมรักษานํ้าใจคนที่ใกล้
ชิดสนิทสนม
พิเศษสำหรับผู้นำ

โดยฐานะของผู้นำ การมีมนุษยสัมพันธ์จะต้องมีบางอย่างพิเศษกว่าคนทั่วไปด้วย เช่น การมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีของคนทั่วไป เราควรมีการเสียสละอยู่แล้ว แต่เมื่อเราเป็นผู้นำ เรายิ่งต้องเสียสละมากกว่าเดิม ปกติเราควรมีนํ้าใจอยู่แล้ว แต่ในฐานะผู้นำ เรายิ่งต้องมีนํ้าใจมากขึ้น ปกติเราควรระวังคำพูดอยู่แล้ว ในฐานะผู้นำเรายิ่งต้องระวังคำพูดมากยิ่งขึ้น ปกติเราควรเข้ากับคนอื่นได้ง่ายอยู่แล้ว ในฐานะผู้นำเรายิ่งต้องเข้ากับคนอื่นได้ง่ายยิ่งขึ้น