วิสัยทัศน์และเป้าหมายของผู้นำ
ลักษณะที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของคนที่มีภาวะผู้นำก็คือ เขาเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์และเป้าหมายวิสัยทัศน์ (หรือบางครั้งใช้คำว่า “นิมิต”) หมายถึงการสามารถมองเห็นอนาคตหรือหยั่งรู้อนาคต ส่วนเป้าหมายคือ สิ่งที่อยากทำให้เกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งการกำหนดจุดที่ชัดเจนในอนาคตที่หวังจะไปให้ถึง
ผู้คนจะติดตามคนที่มีวิสัยทัศน์และเป้าหมาย เพราะผู้คนอยากตามคนที่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร และควรจะเดินมุ่งสู่อนาคตอย่างไร ยิ่งกว่านั้นพวกเขาอยากตามคนที่มองเห็นได้ไกลกว่าตนเอง ผู้นำที่ไร้ทั้งวิสัยทัศน์และเป้าหมาย อาศัยเพียงความสนิทสนมส่วนตัวกับผู้ตาม หรือบุคลิกภาพที่ดี จะพบว่าแม้บรรดาผู้ตามยังคงรักเขา แต่ในที่สุดผู้คนที่มีความคิดและต้องการความก้าวหน้าก็จะหันไปหาผู้นำใหม่ที่พวกเขามั่นใจในวิสัยทัศน์และเป้าหมายมากกว่า ฉะนั้น ผู้นำจึงต้องมองอนาคตเสมอในขณะที่ยังต้องทำสิ่งต่างๆในปัจจุบัน
การนำต้องเริ่มจากการมีวิสัยทัศน์ เป้าหมาย แล้วต่อจากนั้นก็จะเป็นเรื่องการวางแผนและการปฏิบัติการ เพื่อนำพาตัวเองและผู้ตามให้ไปถึงเป้าหมายนั้นให้ได้
วิธีกำหนดวิสัยทัศน์และเป้าหมาย
1. ประมวลมุมมองเพื่อสร้างวิสัยทัศน์
วิสัยทัศน์คือการมองเห็น และเป็นการมองเห็นที่เกิดจากการพยายามมองในหลายมิติ ทั้งมองลึก มองกว้าง มองใกล้และมองไกล วิธีที่ช่วยให้เราสามารถมองเห็นจนเกิดวิสัยทัศน์สำหรับตัวของเราและคนที่เรานำอยู่ มีดังนี้คือ
- มองตนเอง ดูว่าเรารู้สึกลึกๆอย่างไร เราใฝ่ฝันอยากเห็นอะไรเกิดขึ้นหรืออยากทำอะไร เราเชื่อมั่นในอะไร มีอะไรในชีวิตนี้ที่เราจะบากบั่นมุ่งไป ไม่ว่าจะมีอุปสรรคขัดขวางเพียงใดก็ตาม ขณะเดียวกันก็ดูว่าทุกวันนี้ตัวเราเป็นอย่างไร มีจุดแข็งจุดอ่อนอะไร มีต้นทุนชีวิตอะไรบ้างมองตัวเองทั้งอดีต ปัจจุบันและอนาคต
- มองรอบตัว ดูว่าเรามีทรัพยากรอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็น คน เงิน เครื่องมือ อุปกรณ์เวลา กำลัง ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ สายสัมพันธ์ อำนาจ ฯลๆ มองปัจจัยเหล่านี้ทั้งอดีต ปัจจุบันและอนาคต
- มองคนอื่น ดูว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นกับคนอื่นๆทั่วไป ทั้งไกลตัวและใกล้ตัวเรา มองสังคมโดยรวม ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ภูมิภาค ชาติ ทวีป และทั่วโลก มองทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมการเมือง สิ่งแวดล้อม และจิตวิญญาณ มองคนอื่นทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
- มองพระเจ้า ดูว่าพระเจ้ามีน้ำพระทัยอะไรในชีวิตของเรา ทั้งนี้น้ำพระทัยทั่วไปที่เรารู้ได้จากการทรงสำแดงทั่วไปในการอ่านพระคัมภีร์ (2 ทธ.3:16) และนํ้าพระทัยเฉพาะเจาะจงที่เรารู้ได้จากการทรงสำแดงพิเศษ (กจ.26:19) เราต้องให้นํ้าพระทัยมีความสำคัญสูงสุดในชีวิตของเราเหนือ กว่าความต้องการของคนอื่นและตัวเราเอง เราต้องมุ่งทำให้นิมิตที่พระเจ้าประทานให้สำเร็จ(กจ.26:19; 2 ทธ.4:5) และนอกจากนี้ พระเจ้ายังทรงสามารถประทานนิมิตใหม่ หรือขยายนิมิตแก่เราได้ ซึ่งเราก็ต้องพร้อมจะเชื่อฟัง (กจ.10:9-33) มองสิ่งที่พระเจ้าทรงมีนํ้าพระทัยต่อเราทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคต
เมื่อมองทุกมุมและทุกมิติแล้ว ให้นำมาประมวลแล้วมองไปยังภาพรวมอนาคตว่า แนวโน้มอนาคตคืออะไร มีโอกาสอะไรและสิ่งคุกคามอะไร และเราอยากเห็นอะไรเกิดขึ้นกับเราและคนที่เรานำ สิ่งที่เราอยากเห็นและอยากเป็นนั้นมีความเป็นไปได้เพียงใด จากนั้นก็สรุปแล้วเขียนออกมาเป็นถ้อยคำแห่งวิสัยทัศน์ในชีวิตของเราที่เราจะดำเนินตามไป
2. กำหนดวิสัยทัศน์และเป้าหมายที่ครอบคลุมและชัดเจน
เมื่อได้วิสัยทัศน์แล้วก็นำวิสัยทัศน์มากำหนดเป็นเป้าหมาย วิสัยทัศน์และเป้าหมายที่ดีจะต้องมีลักษณะดังนี้คือ ครอบคลุมทุกสิ่งที่อยากทำ มีความชัดเจนเฉพาะเจาะจงที่วัดผลได้ ท้าทายให้พยายาม และจำง่าย วิธีการคือ
1. พิจารณาว่า เราจะทำอะไรเพื่อพระเจ้า เพื่อตัวเราและคนที่เรานำ เป็นการกำหนดเป้าหมายชีวิตควรพิจารณาครอบคลุมชีวิตทุกด้าน ได้แก่
- ด้านพันธกิจ เราอยากบรรลุเป้าหมายอะไรในการรับใช้พระเจ้า เช่น
เราจะเป็นพยานกับคนครบ..............คน ในปี............
เราจะนำกลุ่มย่อยครบ.............กลุ่ม ในปี..............
เราจะตั้งคริสตจักรครบ...........แห่ง ในปี...........
เราจะถวายทรัพย์ให้ได้จำนวน.................บาท ในปี.................
- ด้านชีวิตส่วนตัวและครอบครัว เราอยากบรรลุเป้าหมายอะไรในด้านชีวิตส่วนตัวและครอบครัว เช่น
เราจะเรียนจบปริญญาตรีสาขา......................ในปี............
เราจะแต่งงานกับ....... .........ในปี............
เราจะมีลูก.......คน คนแรกปี.........คนที่สองในปี...........
เราจะมีบ้านส่วนตัวที่...................ในปี...............
เราจะมีเงินเก็บจำนวน...............บาท ในปี............
เราจะเกษียณในปี................
- ด้านงานอาชีพ การเลี้ยงชีพเป็นด้านหนึ่งที่สำคัญมากของชีวิต เราอยากบรรลุเป้าหมายอะไรเกี่ยวกับงานอาชีพของเรา (เป้าหมายนี้อาจรวมเข้ากันกับเป้าหมายด้านพันธกิจ หากเราเป็นผู้รับใช้เต็มเวลา) เช่น
เราจะทำงานอาชีพ.........................ในปี.............
เราจะเข้าสู่ตำแหน่ง...................ในปี.................
หรือเราจะมีธุรกิจส่วนตัวคือ..........................ในปี...................
2. กำหนดเป้าหมายเป็นระยะๆ เพื่อจะบรรลุความสำเร็จได้ วิธีการคือกำหนดเป้าหมายระยะสุดท้ายก่อน แล้วจึงกำหนดเป้าหมายระยะกลางและระยะสั้นตามลำดับ เช่น กำหนดเป้าหมายปีสุดท้ายระยะ 10 ปี จากนั้นมากำหนดเป้าหมายระยะ 5 ปี จากนั้นก็มากำหนดเป้าหมาย 2 ปี เป้าหมาย 1 ปี และ 3 เดือน การมีเป้าหมายแต่ละระยะต้องส่งเสริมให้เป้าหมายสุดท้ายสำเร็จมากขึ้นๆ เป็นลำดับ
3. กำหนดแผนงานที่จะทำให้เป้าหมายสำเร็จโดยการกำหนดแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการ
แผนยุทธศาสตร์ (Strategic Plan) คือการระบุว่าเราจะทำให้เป้าหมายสำเร็จโดยใช้วิธีการใดบ้าง ส่วนแผนปฏิบัติการ (Action Plan) คือการระบุว่ายุทธศาสตร์ที่จะทำนั้นจะมีรายละเอียดอย่างไร ต้องทำอะไรก่อนหลังหรือทำไปพร้อมกัน ต้องทำเองหรือให้ใครทำ ต้องใช้ทรัพยากรอะไรบ้าง ต้องใช้เวลาเท่าไร งบประมาณเท่าไร และอุปกรณ์เครื่องมืออะไรบ้าง เป็นต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น